พระบรมราชวังจตุมุขสิริมงคล
พระบรมราชวังในราชอาณาจักรกัมพูชา (เขมร: ព្រះបរមរាជវាំងនៃព្រះរាជាណាចក្រកម្ពុជា พฺระบรมราชวำงไนพฺระราชาณาจกฺรกมฺพุชา) หรือ พระบรมราชวังจตุมุขสิริมงคล (เขมร: ព្រះបរមរាជវាំងចតុមុខសិរីមង្គល พฺระบรมราชวำงจตุมุขสิรีมงฺคล) เป็นพระราชวังที่ตั้งอยู่ในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เป็นกลุ่มอาคารพระราชมนเทียรของพระมหากษัตริย์กัมพูชา พระเจ้าแผ่นดินกัมพูชาเสด็จประทับที่นี้นับแต่แรกสร้างใน ค.ศ. 1866 และเสด็จไปประทับที่อื่นเมื่อบ้านเมืองวุ่นวายเพราะเขมรแดงเรืองอำนาจ ชาวไทยมักเรียกพระราชวังแห่งนี้ว่า "พระราชวังเขมรินทร์" ทั้ง ๆ ที่ชื่อ "เขมรินทร์" (เขมร: ខេមរិន្រ្ត เขมรินฺตรฺ) เป็นเพียงพระที่นั่งองค์หนึ่งในพระบรมราชวังจตุมุขเท่านั้น[1] พระบรมราชวังนี้สร้างขึ้นหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระนโรดม พรหมบริรักษ์ ทรงย้ายเมืองหลวงจากกรุงอุดง มายังกรุงพนมเปญ ในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 พระราชวังแห่งนี้ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของลำน้ำของแม่น้ำ 4 สายที่ไหลมาบรรจบกัน อันได้แก่ แม่น้ำที่ไหลจากโตนเลสาบและโตนเลบาสัก ไหลรวมกับแม่น้ำโขงที่แบ่งเป็น แม่น้ำโขงเหนือและแม่น้ำโขงใต้ จึงเรียกว่า “จตุมุข” (ចតុមុខ) ที่สื่อถึง พระพรหม ผู้มี 4 หน้า พระราชวังยังหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีอาคารที่แตกต่างกัน และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่นิยมในปัจจุบัน สถานที่ส่วนใหญ่ภายในเขตพระราชวังเปิดให้เข้าชมได้ ยกเว้นเขตหวงห้ามบางเขต เช่น เขตพระราชฐานที่ประทับ เป็นต้น ประวัติหลังจากสมัยอุดง กัมพูชากลายเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. 2406 จึงได้มีการย้ายเมืองหลวงจากอุดงมีชัยกลับมายังพนมเปญและสร้างพระราชวังหลวงขึ้นในช่วงนี้ ในช่วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระนโรดม พรหมบริรักษ์ทรงทำสนธิสัญญาให้กัมพูชาอยู่ในความคุ้มครองของฝรั่งเศส พ.ศ. 2406 เมืองหลวงของกัมพูชา คือ เมืองอุดงมีชัย อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของพนมเปญราว 45 กิโลเมตร ช่วงต้นปีนี้ พระราชวังชั่วคราวที่สร้างจากไม้ได้สร้างขึ้นที่ทางเหนือของพนมเปญ ส่วนพระราชวังหลวงในช่วงแรกที่สร้างขึ้นออกแบบโดยสถาปนิกชาวเขมร คือ นักออกญาเทพนิมิต (มัก) และก่อสร้างโดยฝรั่งเศสแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2409 สมเด็จพระนโรดมจึงทรงย้ายราชสำนักจากอุดงมีชัย มายังพระราชวังหลวงแห่งใหม่ที่พนมเปญ ในช่วงแรกของการก่อสร้างพระบรมราชวังจตุมุขสิริมงคล สมเด็จพระนโรดมทรงประทับในพระตำหนักไม้แบบเขมรชั่วคราวทางเหนือของวัดอุณาโลมเล็กน้อย ขณะกำลังสร้างพระบรมราชวังถาวร พระบรมราชวังเป็นบริเวณที่ประกอบด้วยอาคารหลายแห่งแยกจากกัน โดยอาคารที่สำคัญที่สุดคือ พระที่นั่ง พระที่นั่งส่วนตัวขององค์พระมหากษัตริย์ (มี 2 หลัง แห่งหนึ่งอยู่ทางทิศเหนือของพระที่นั่ง และอีกแห่งอยู่ทางใต้) ชุดของ ศาลาแบบดั้งเดิมหรือศาลาเปิดโล่ง (ใช้เป็นที่เต้นรำและที่จัดเลี้ยง) และศาลานโปเลียน ทั้งหมดนี้อยู่ทางทิศตะวันออกหรือลานสาธารณะ ลานด้านตะวันตกมีไว้สำหรับสตรีของกษัตริย์ ซึ่งชาวฝรั่งเศสเรียกว่าพระสนมในพระมหากษัตริย์ ในเวลาต่อมา ได้มีการก่อสร้างหรือรื้อถอนสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ เพิ่มเติมในพระราชวังนี้ รวมถึงพระที่นั่งจันทฉายา และพระที่นั่งเทวาวินิจฉัย (ท้องพระโรง) องค์เดิม กำแพงพระราชวังถูกสร้างขึ้นใน พ.ศ. 2416 สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ที่สร้างในช่วงนี้ มีสถาปัตยกรรมแบบสยามเป็นหลัก และได้รับอิทธิพลจากยุโรป (สถาปัตยกรรมเขมรช่วงนี้ได้รับอิทธิพลจากสยาม) หนึ่งในอาคารที่เป็นเอกลักษณ์และยังอยู่มาถึงปัจจุบัน คือ พลับพลานโปเลียน ซึ่งเป็นของขวัญจากฝรั่งเศส ในปี พ.ศ. 2419 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ โปรดฯ ให้สร้างอาคารสำคัญบางแห่งในพระราชวังหลวงปัจจุบัน ได้แก่ ศาลาโพคณี ใน พ.ศ. 2450 ช่วง พ.ศ. 2456-2462 ได้มีการรื้อถอนอาคารเก่า ปรับปรุงและขยายพระที่นั่งจันทฉายา กับพระที่นั่งเทวาวินิจฉัย อาคารที่ก่อสร้างหรือปรับปรุงในสมัยนี้ ได้มีการนำสถาปัตยกรรมขอมสมัยนครวัดมาประยุกต์ด้วย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์ (สมเด็จพระมณีวงศ์) ได้มีการสร้างวัดหลวง และปรับปรุงพระราชวังหลวงเดิมให้เป็นพระราชวังเขมรินทร์ (พ.ศ. 2474) ซึ่งเป็นพระราชวังหลวงในปัจจุบัน อาคารที่ก่อสร้างในสมัยหลัง ๆ ได้แก่ บ้านพักรับรองอาคันตุกะต่างชาติ และตำหนักจันทร์ซึ่งเป็นศาลาว่าการกระทรวงพระบรมราชวัง(สำนักพระราชวังของราชสำนักกัมพูชา) สิ่งก่อสร้างในพระบรมราชวังกลุ่มอาคารสิ่งปลูกสร้างแบ่งออกเป็นกำแพงวังหลักเป็นสี่บริเวณหลัก ทางด้านทิศใต้มีพระเจดีย์เงินอยู่ทางด้านทิศเหนือคือ พระราชวังเขมรินทร์ เป็นคำที่ใช้เรียกถึง ปราสาทเขมรินทร์ แปลว่า “ปราสาทของพระอินทร์” หรืออีกความหมายหนึ่งคือ “พระราชวังของกษัตริย์กัมพูชา” ใช้เป็นที่ประทับของกษัตริย์กัมพูชา สถานที่แห่งนี้แยกจากสถานที่อื่น ๆ ของพระราชวังด้วยกำแพง และตั้งอยู่ใกล้ ๆ กับ ท้องพระโรง หรือเรียกได้อีกชื่อว่า “พระที่นั่งเทวาวินิจฉัย” อาคารหลักของปราสาทเขมรินทร์ นี้มียอดเป็นพระปรางค์ยอดเดียวและทางตะวันตกคือเขตพระราชฐานหรือ พระตำหนักฝ่ายใน อาคารของพระราชวังถูกสร้างขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปเมื่อเวลาผ่านไปและบางส่วนถูกรื้อถอนและสร้างขึ้นใหม่ในช่วงปลายทศวรรษ 1960 อาคารเก่าแก่บางหลังสร้างขึ้นในศตวรรษที่ 19 ในพระนิพนธ์ นิราศนครวัด ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ระบุว่าพระบาทสมเด็จพระนโรดมเคยเข้าไปทำราชการอยู่ในกรุงเทพมหานคร จึงสร้างพระราชวังตามอย่างพระบรมมหาราชวังช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งโครงสร้างและชื่อของพระที่นั่ง (ปัจจุบันบางแห่งถูกรื้อลงไปแล้ว) มีดังนี้[2]
สถาปัตยกรรมและพื้นที่พระบรมราชวังแห่งกัมพูชาได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมสยามรวมกัยสถาปัตยกรรมเขมรที่มีอิทธิพลของฝรั่งเศสเล็กน้อยที่มีต่อรูปแบบของกำแพงป้องกันพระราชวัง (เขมร: កំផែង, กํแผง), ท้องพระโรง (เขมร: ព្រះទីនាំង, เปรี๊ยะตีเนียง), วัดพระแก้วมรกต (เขมร: វត្តព្រះកែវមរកត), สถูป (เจดีย์), หอคอยยอดแหลมสูงตระหง่าน (ปรางค์ปราสาท) และภาพจิตรกรรมฝาผนัง พระบรมราชวังแห่งกรุงพนมเปญครอบคลุมพื้นที่ 174,870 ตารางเมตร ท้องพระโรงพระที่นั่งเทวาวินิจฉัยมหัยมหาปราสาท หรือ "ท้องพระโรง" (เขมร: ព្រះទីនាំងទេវាវិនិច្ឆ័យមហ័យមហាប្រាសាទ) แปลว่า "ที่นั่งแห่งการตัดสินที่ศักดิ์สิทธิ์" พระที่นั่งเทวาวินิจฉัยเป็นสถานที่ที่กษัตริย์กัมพูชา แม่ทัพ เหล่าพระบรมวงศานุวงศ์หรือขุนนางข้าราชบริพารมาปรึกษาการบริหารแผ่นดินและออกว่าราชการ ในปัจจุบัน สถานที่แห่งนี้ ใช้สำหรับงานพระราชพิธีต่าง ๆ เช่น พระราชพิธีขึ้นครองราชย์[3] หรือพระราชพิธีอภิเษกสมรส รวมไปถึงใช้เป็นสถานที่รับแขกบ้านแขกเมืองด้วย พระที่นั่งแห่งนี้มีผังเป็นรูปกากบาทและมียอดปราสาท 3 ยอด ยอดปราสาทตรงกลางสูงราว 59 เมตร ประดับด้วยพรหมพักตร์ 4 หน้า ภายในท้องพระโรงเป็นที่ตั้งของพระราชบัลลังก์ซึ่งประกอบไปด้วย 3 บัลลังก์ (บัลลังก์หนึ่งเป็นแบบตะวันตกและอีกสองบัลลังก์เป็นแบบดั้งเดิม) และมีรูปปั้นครึ่งตัวสีทองของพระมหากษัตริย์และพระราชินีกัมพูชาในอดีตนับตั้งแต่สมัยสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดีเป็นต้นมา ท้องพระโรงแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเป็นครั้งที่สอง โดยครั้งแรกท้องพระโรงสร้างด้วยไม้ ใน พ.ศ. 2412-2413 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตารแล้วถูกรื้อถอนใน พ.ศ. 2458 ท้องพระโรงองค์ปัจจุบันสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2460 แล้วเริ่มใช้ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์เมื่อปี พ.ศ. 2462 ท้องพระโรงมีขนาด 30x60 เมตร โดยมียอดสูง 59 เมตร ท้องพระโรงหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเช่นเดียวกับสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ในพระราชวัง เมื่อเข้าเยี่ยมชมท้องพระโรง (พระราชบัลลังก์ในด้านหน้าและพระที่นั่งบุศบกที่ที่อยู่สูงกว่าในด้านหลัง) และจิตรกรรมฝาผนังเพดานที่สวยงามของเรียมเกร์ ไปทางทิศด้านเหนือของพระราชบัลลังก์จะมีพระบรมรูปของพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์ถือพระแสงขรรค์ชัยศรีตั้งอยู่ พระบรมรูปทำด้วยทองคำและฉลองพระองค์ตามแบบพระราชอัธยาศัย ขณะที่ทางทิซด้านใต้ของพระราชบัลลังก์มีพระบรมรูปของพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ทรงประทับที่ พระที่นั่งบุษบก ทรงฉลองพระองค์และปกคลุมด้วยเครื่องราชกกุธภัณฑ์ของกัมพูชา (พระองค์สวมพระมหาพิชัยมงกุฎ, ฉลองพระบาทเชิงงอนและในพระหัตถ์ขวาถือพระแสงขรรค์ชัยศรีของพระมหากษัตริย์ พระองค์ประทับบนพระที่นั่งบุษบก ซึ่งถูกสร้างขึ้นให้ดูเหมือนของจริงทางด้านขวา) พระที่นั่งบุษบกพระราชบัลลังก์ตามแบบดั้งเดิมตามโบราณราชประเพณี หรือ พระที่นั่งบุษบก (เขมร: ព្រះទីនាំងបុស្បុក) เป็นบัลลังก์รูปแบบเขมรคลาสสิกโบราณเก้าระดับ พระมหากษัตริย์เขมรแต่ละพระองค์จะต้องทรงประทับอยู่ในวันราชาภิเษกขณะสวมใส่เครื่องราชกกุธภัณฑ์ มันถูกปกคลุมไปด้วยงานแกะสลักดอกไม้ที่ซับซ้อนและมีรูปปั้นขนาดเล็กสองรูปของครุฑ ยกส่วนบนของบุษบก บัลลังก์สามในเก้าระดับเป็นตัวแทนของระดับนรก โลกอยู่ตรงกลางและสวรรค์ รอบ ๆ บุษบก เป็นร่มทองคำสี่ชั้นจากเก้าชั้น (ฉัตร 9 ชั้น) เรียกว่าอภิรมย์ (เขมร: អភិរម្យ) ในท้ายที่สุดบุษบกนั้นได้รับการประดับประดาด้วยร่มสีขาวของ หรือ (เขมร: ព្រះមហាស្វេតឆ័ត្រ) (พระมหาเศวตฉัตร คล้ายกับ "นพปฎลมหาเศวตฉัตร" ในประเทศไทย) หมายถึงพลังอำนาจสากลที่กษัตริย์มี ด้านหน้าของบุษบกเป็นพระราชบัลลังก์ โต๊ะที่ตั้งอยู่ติดกับบัลลังก์หลวงบรรจุชุดน้ำชาทองและพลูทองและหมากภาชนะบรรจุหมากซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องราชกกุธภัณฑ์และอยู่บนโต๊ะเสมอ หรือมักเรียกว่า "พานพระศรี" (เขมร:ពានព្រះស្រី) ถือเป็นหนึ่งในเครื่องราชูปโภค ด้านหลังของพระที่นั่งบุษบกเป็นอีกบุษบกหนึ่งคือ พระที่นั่งนิรยโสภา (เขมร: ព្រះទីនាំងនារីរ័ត្នសោភា), พระที่นั่งบุษบกเป็นพระที่นั่งสำหรับพระมหากษัตริย์และพระที่นั่งนิรยโสภาที่ด้านหลังสำหรับพระราชินี พระที่นั่งจันทรฉายาพระที่นั่งจันทรฉายา (เขมร: ព្រះទីន័ងច័ន្ទឆាយា) หรือ "ศาลาแสงจันทร์", เป็นศาลารูปแบบเปิดโล่งรับอากาศ ใช้เป็นสถานที่แสดงนาฏศิลป์เขมรโบราณ ในนิราศนครวัดโดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพบรรยายว่า สมเด็จพระนโรดมได้เคยเข้ามารับราชการในกรุงเทพฯ จึงนิยมแบบแผนพระราชวังอย่างในกรุงเทพนำไปสร้างเท่าที่จะทำได้หมดโดยริมกำแพงหน้าวังมีปราสาทพลับพลาสูงอย่างพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ เรียกว่า “พระที่นั่งจันทรฉายา” คาดว่ายึดต้นแบบมาจากพระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท ในพระบรมมหาราชวังของประเทศไทย พระที่นั่งจันทรฉายาแต่เดิมนั้นสร้างแบบเครื่องไม้อย่างโบราณก่อนที่จะรื้อออกสร้างเป็นปูนคอนกรีตในภายหลัง ส่วนโครงสร้างนั้นเดิมเป็นพลับพลาสูงไว้เป็นที่เสด็จออกสนามอย่างในกรุงเทพ พอในชั้นหลังเมื่อฝรั่งเศสบูรณะวังใหม่แล้วได้นำพระที่นั่งจันทรฉายาแห่งนี้แก้ไขสร้างใหม่เป็นปูนคอนกรีตทำเป็นโรงละครหลวงอย่างโรงโอเปรา ตัวปราสาทเป็นโถงยาว มีมุขหน้าหลังอยู่ตรงกลาง พื้นที่ชั้นล่างเป็นช่องสำหรับจอดรถ บันไดขึ้นพระที่นั่งทางด้านข้างมีเวทีมีการจัดที่ประทับและเก้าอี้ไว้โดยรอบ พระที่นั่งจันทรฉายาเป็นอาคารที่โดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่งของพระราชวังเนื่องจากมองเห็นได้ง่ายจากภายนอก เนื่องจากสร้างขึ้นควบคู่ไปกับส่วนของกำแพงพระราชวัง ศาลาจันทรฉายา มีระเบียงที่ใช้เป็นเวทีสำหรับชมขบวนพาเหรดที่เดินขบวนไปตามถนนโสธีรส กรุงพนมเปญ ศาลาจันทรฉายาหลังปัจจุบันเป็นหลังที่ 2 ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าสีสุวัตถิ์ เมื่อปี พ.ศ. 2456-2457 เพื่อทดแทนศาลาหลังเดิมที่สร้างในสมัยพระเจ้านโรดม ในปัจจุบันพลับพลาใช้สำหรับงานเลี้ยงและถวายเครื่องราชสักการะสำหรับพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ในพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี เมื่อปี พ.ศ. 2547 วัดพระแก้วมรกต (เจดีย์เงิน)วัดพระแก้วมรกตเป็นบริเวณที่ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของบริเวณพระราชวัง มีพระอารามหลวงอย่างเป็นทางการเรียกว่า ปราสาทพระแก้วมรกต (เขมร: ព្រះវិហារព្រះកែវមរកត) แต่โดยทั่วไปจะเรียกว่าวัดพระแก้ว (เขมร: វត្តព្រះកែវ)) อาคารหลักเป็นที่เก็บรักษาสมบัติประจำชาติมากมาย เช่น พระพุทธรูปทองคำและอัญมณี สิ่งที่น่าสังเกตมากที่สุดคือพระแก้วขนาดเล็ก ("พระแก้วมรกต" ของกัมพูชา) ไม่ทราบแน่ชัดว่าทำจากคริสตัล Baccarat ในศตวรรษที่ 19 หรือคริสตัลชนิดอื่นในศตวรรษที่ 17 และพระศรีอริยเมตไตรยขนาดใกล้เคียงกันที่หุ้มด้วยเพชร 9,584 เม็ด ทรงเครื่องราชกกุธภัณฑ์ตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ ในช่วงก่อนรัชสมัยของพระนโรดม สีหนุก่อนยุคเขมรแดง เจดีย์เงินถูกฝังด้วยกระเบื้องเงินมากกว่า 5,000 แผ่น และส่วนหน้าด้านนอกบางส่วนได้รับการออกแบบใหม่ด้วยหินอ่อนอิตาลี พระตำหนักฝ่ายในพระตำหนักฝ่ายในพระราชวังมีสวนต่าง ๆ ที่เต็มไปด้วยดอกไม้และพืชเมืองร้อน ดอกไม้พื้นเมืองในกัมพูชา เช่น ลำดวน (ดอกไม้ประจำชาติกัมพูชา), ดอกไม้และพืชไม้จากตะวันตกและญี่ปุ่น อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่นวิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ Royal Palace, Phnom Penh
|