Share to: share facebook share twitter share wa share telegram print page

 

พจนานุกรมภาษาอังกฤษ ฉบับออกซฟอร์ด

พจนานุกรมภาษาอังกฤษ ฉบับออกซฟอร์ด
หนังสือ 7 ใน 20 เล่มของ พจนานุกรมภาษาอังกฤษ ฉบับออกซฟอร์ด รุ่นที่สอง (1989).
ประเทศสหราชอาณาจักร
ภาษาอังกฤษ
สำนักพิมพ์สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยออกฟอร์ด
จัดพิมพ์เมื่อค.ศ.1884–1928 (รุ่นแรก)
1989 (รุ่นที่สอง)
รุ่นที่สามกำลังดำเนินงาน[1]

พจนานุกรมภาษาอังกฤษ ฉบับออกซฟอร์ด (อังกฤษ: Oxford English Dictionary; OED) เป็นพจนานุกรม ที่ตีพิมพ์โดย สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ปกติถือเป็นพจนานุกรมภาษาอังกฤษเชิงวิชาการและละเอียดที่สุด โดยมีรายการหลักประมาณ 301,100 รายการ (สถิติล่าสุด 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 2005) และมีตัวอักษรทั้งหมดมากกว่า 350 ล้านตัว นอกจากคำหลักของรายการหลักแล้ว ยังมีคำประสม และคำแผลงพิมพ์ตัวหนา 157,000 คำ ขณะที่มีวลีและวลีย่อยพิมพ์ตัวหนา 169,000 รายการ ทำให้มีลูกคำทั้งหมด 616,500 คำ นอกจากนี้ยังมีการเขียนคำอ่าน 137,000 คำ, รากศัพท์หรือที่มา 249,300 คำ ศัพท์เชื่อมโยง (cross-references) 577,000 มีจำนวนหน้า 21,730 หน้า และรายการศัพท์ทั้งหมด 291,500 รายการ

นโยบายของพจนานุกรมภาษาอังกฤษ ฉบับออกซฟอร์ด คือ พยายามที่จะบันทึกการใช้งานและลักษณะแปรผันทั้งหมดเท่าที่ทราบ ในทุกลักษณะของปลีกย่อยของภาษาอังกฤษ ที่ใช้กันทั่วโลก ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ส่วนหนึ่งของคำนำฉบับพิมพ์ ค.ศ. 1933 มีดังนี้

เป้าหมายของพจนานุกรมนี้ ก็คือ เพื่อนำเสนอลำดับคำเรียงตามตัวอักษร ที่ก่อให้เกิดเป็นคำศัพท์ในภาษาอังกฤษ จากช่วงเวลาเก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยมีบันทึกมา จวบจนปัจจุบัน โดยมีข้อเท็จจริงอันเกี่ยวเนื่องทั้งมวล ในเชิงรูปคำ ประวัติศาสตร์ การออกเสียง และรากศัพท์ เราไม่เน้นเฉพาะภาษามาตรฐานในวรรณคดี และการสนทนาเท่านั้น ไม่ว่าในเวลาปัจจุบัน หรือศัพท์ที่เลิกใช้ หรือศัพท์โบราณ แต่เน้นคำศัพท์เฉพาะทางที่สำคัญ และการใช้ในท้องถิ่นระดับกว้าง และศัพท์สแลงด้วย

พจนานุกรมภาษาอังกฤษ ฉบับออกซฟอร์ด คือจุดเริ่มต้นของงานที่เน้นวิชาการที่เข้มข้น ซึ่งต้องเกี่ยวข้องกับคำศัพท์ภาษาอังกฤษ การเลือกลำดับในการสะกดแบบต่างๆ ของคำหลักนั้น มีอิทธิพลต่อการเขียนภาษาอังกฤษในหลายประเทศ

จุดเริ่มต้น

พจนานุกรมเล่มนี้แต่เดิมไม่มีความเกี่ยวโยงกับมหาวิทยาลัยใดๆ แต่เป็นที่รับรู้กันในลอนดอนว่าเป็นโครงการของสมาคมอักษรศาสตร์ (Philological Society) เมื่อ ริชาร์ด เชนวิกซ์ เทรนช์, เฮอร์เบิร์ต โคเลอบริดจ์ และเฟรเดอริก เฟอร์นิวอลล์ เริ่มรู้สึกไม่พอใจกับพจนานุกรมภาษาอังกฤษที่มีอยู่

ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1857 กลุ่มนักวิชาการดังกล่าวได้ก่อตั้ง "คณะกรรมการศัพท์นอกทะเบียน" (Unregistered Words Committee) ขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อค้นหาคำศัพท์ที่ยังไม่มีและไม่ได้นิยามไว้ในพจนานุกรมในเวลานั้น แต่รายงานที่เทรนช์นำเสนอในเดือนพฤศจิกายนปีดังกล่าว ไม่ใช่รายการคำศัพท์นอกทะเบียนอย่างง่ายๆ ทว่า เป็นการศึกษา "ว่าด้วยข้อบกพร่องบางประการในพจนานุกรมภาษาอังกฤษของเรา" เขาได้กล่าวไว้ว่า ข้อบกพร่องดังกล่าว มี 7 ประการ ดังนี้

  • ไม่ครอบคลุมคำศัพท์ที่เลิกใช้
  • ไม่ครอบคลุมตระกูลศัพท์ที่มีความสัมพันธ์กัน
  • ข้อมูลคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการใช้คำในสมัยแรกๆ
  • มักจะไม่ระบุประวัติของความหมายของคำที่เลิกใช้
  • แยกความแตกต่างระหว่างคำไวพจน์ไว้ไม่ชัดเจนพอ
  • ใช้ข้อความยกอ้าง (quotation) ที่มีชื่อเสียงไม่พอเพียง
  • เสียพื้นที่ไปกับเนื้อหาที่ซ้ำซ้อน หรือไม่เหมาะสม

เทรนช์เสนอว่า พจนานุกรมฉบับใหม่ที่ละเอียดจริงๆ นั้นไม่สามารถทำให้สั้นและกระชับได้ จึงต้องอาศัยการช่วยเขียนจากนักอ่านอาสาสมัครจำนวนมาก บุคคลเหล่านั้นจะอ่านหนังสือ คัดลอกข้อความที่ระบุการใช้งานจริงในลักษณะที่หลากหลายของคำศัพท์ต่างๆ มาไว้ใน "แผ่นบันทึกข้อความยกอ้าง" และส่งจดหมายไปยังบรรณาธิการ เอกสารต่างๆ ที่มีชื่อเสียง และในปี ค.ศ. 1858 สมาคมก็ยอมรับโดยหลักการเพื่อก่อตั้งโครงการ "พจนานุกรมภาษาอังกฤษฉบับใหม่ อิงหลักการเชิงประวัติ" (A New English Dictionary on Historical Principles; NED)

บรรณาธิการรุ่นแรก

เทรนช์นั้นมีบทบาทสำคัญในช่วงแรกๆ ของโครงการ แต่อาชีพนักบวชของเขานั้น ทำให้เขาไม่สามารถให้ความสนใจอย่างต่อเนื่องแก่พจนานุกรมใหม่นี้ได้เท่าที่ควร ซึ่งอาจต้องใช้เวลายาวนานถึงสิบปีทีเดียว ด้วยเหตุนี้ เทรนช์จึงขอลาออก และเฮอร์เบิร์ต โคเลอริดจ์ก็เข้ามาเป็นบรรณาธิการคนแรกของพจนานุกรมเล่มนี้

วันที่ 12 พฤษภาคม ค.ศ. 1860 มีการตีพิมพ์แผนการของโคเลอริดจ์สำหรับงานชิ้นนี้ และเริ่มการวิจัย บ้านของเราเริ่มกลายเป็นสำนักงานบรรณาธิการแห่งแรก เขาสั่งทำตู้ไม้ติดผนังมีช่องเล็กๆ 54 ช่อง สำหรับเรียงข้อความยกอ้าง ซึ่งในที่สุดมีมากถึง 1 แสนข้อความ ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1861 ตัวอย่างหน้าแรกของพจนานุกรมก็ตีพิมพ์ออกมา และต่อมาในเดือนเดียวกันนั้น โคเลอริดจ์ซึ่งมีอายุเพียง 31 ก็เสียชีวิตเนื่องจากวัณโรค

ต่อมางานบรรณาธิการจึงตกแก่เฟอร์นิวอลล์ ซึ่งเขามีความขยันขันแข็งเป็นอย่างยิ่ง และยังมีความรู้มาก แต่ยังขาดความอดทนสำหรับโครงการระยะยาวเช่นนี้ การเริ่มต้นอย่างมีพลังของเขานั้นมีผู้ช่วยจำนวนมากคอยคัดเลือกข้อความ และมีแผ่นบันทึกข้อความจากผู้อ่านมีน้ำหนักถึง 2 ตัน และยังมีวัสดุรูปแบบอื่นๆ ส่งมายังบ้านของเขาอีก และมีหลายกรณีที่ส่งไปยังผู้ช่วยของเขา แต่เมื่อเวลาผ่านไปหลายเดือน หลายปี โครงการก็เริ่มแผ่วลง เฟอร์นิวอลล์เริ่มขาดการติดต่อกับผู้ช่วยของเขา และบางคนก็เข้าใจว่าโครงการนั้นถูกทอดทิ้งไป บางคนก็เสียชีวิต และข้อความในแผ่นกระดาษก็ไม่ได้ถูกส่งกลับ แผ่นบันทึกข้อความยกอ้างทั้งหมดที่เริ่มต้นด้วยอักษรเอช (H) ภายหลังพบที่ทัสกานี แผ่นอื่นๆ ถูกมองว่าเป็นกระดาษเสีย และเผาทิ้งไปก็มี

ในทศวรรษ 1870 เฟอร์นิวอลล์ก็ขอความช่วยเหลือจากเฮนรี สวีต และเฮนรี นิโคล เพื่อทำงานนี้ต่อ แต่ก็ไม่เป็นผล แต่ต่อมาเจมส์ เมอเรย์ (James Murray) ก็ตกลงรับตำแหน่งดังกล่าว

บรรณาธิการของออกซฟอร์ด

ในขณะเดียวกัน สมาคมดังกล่าวก็เริ่มติดต่อเรื่องการพิมพ์ ซึ่งในเวลานั้นเห็นชัดแล้วว่า งานดังกล่าวจะเป็นหนังสือขนาดใหญ่มหึมาได้ มีการติดต่อผู้จัดพิมพ์จำนวนมากในระยะเวลาหลายปี ไม่ว่าจะเพื่อตีพิมพ์หน้ากระดาษตัวอย่าง หรือเพื่อการตีพิมพ์ทั้งเล่ม แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นตกลงว่าจ้างแต่อย่างใด และในบรรดาผู้จัดพิมพ์เหล่านี้ ก็คือ สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด

ในที่สุด ปี ค.ศ. 1879 หลังจากต่อรองอยู่สองปี กับสวีต และเฟอร์นิวอลล์ และเมอร์เรย์ สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดก็ตกลงที่จะจัดพิมพ์ ไม่เฉพาะพจนานุกรมเท่านั้น แต่จะจ่ายเงินให้แก่เมอร์เรย์ (ซึ่งในเวลานั้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกสมาคมอักษรศาสตร์) เป็นเงินเดือนค่าบรรณาธิการด้วย พวกเขาหวังว่างานนี้คงจะสำเร็จในอีก 10 ปีข้างหน้า

นับว่าเมอร์เรย์นั่นเอง เป็นผู้ปัดฝุ่นโครงการนี้ขึ้นมา และสามารถที่จะดำเนินการไปสู่การปฏิบัติจริง ส่วนสถานที่ทำงานนั้นเขาจึงไม่เลือกใช้บ้านของเขา (ในเมืองมิลล์ ฮิลล์ ชานกรุงลอนดอน) เป็นที่ทำงาน เนื่องจากเขามีลูกหลายคน แต่เขาได้สร้างอาคารอีกหลังหนึ่งต่างหากสำหรับเป็นที่ทำงานของเขาและผู้ช่วย เขาเรียกอาคารนี้ว่า สคริปทอเรียม (Scriptorium) ซึ่งหมายถึง ที่เก็บต้นฉบับ นั่นเอง โดยมีตู้ไม้เป็นช่องๆ 1,029 ช่อง และชั้นวางหนังสือจำนวนมาก

ในตอนนี้เมอร์เรย์เริ่มค้นหา และรวบรวมแผ่นบันทึกที่เฟอร์นิวอลล์เคยทำไว้เรียบร้อยแล้ว แต่เขาพบปริมาณไม่มากพอ เพราะผู้อ่านเน้นไปที่คำหายาก และคำที่น่าสนใจ เขามีข้อความของคำว่า "abusion" มากกว่า "abuse" ถึง 10 เท่า ด้วยเหตุนี้ เขาจึงประกาศสร้างแรงจูงใจอย่างใหม่แก่ผู้อ่าน โดยได้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์อย่างแพร่หลาย รวมทั้งเผยแพร่ในร้านหนังสือและห้องสมุดต่างๆ ในคราวนี้ ผู้อ่านถูกขอร้องอย่างชัดเจนให้รายงาน "การคัดข้อความคำธรรมดาให้มากที่สุด เท่าที่คุณจะทำได้" และรวมทั้งคำที่ดูเหมือนว่า "ไม่ค่อยได้ใช้ เลิกใช้ คำเก่า คำใหม่ คำแปลก หรือคำเฉพาะทาง" เมอร์เรย์ได้ติดต่อนักอักษรศาสตร์ชาวเพนน์ซิลเวเนีย ชื่อ ฟรานซิส มาร์ช (Francis March) ให้มาจัดการกระบวนการดังกล่าวในอเมริกาเหนือ และไม่ช้า ก็มีการส่งข้อความมายังสคริปทอเรียม วันละ 1,000 ชิ้น และในปี 1882 มีข้อความมากถึง 3,500,000 แผ่น

ในที่สุดเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1884 (นับเป็นเวลา 23 ปีหลังจากตีพิมพ์ตัวอย่างหน้าแรกของโคเลอริดจ์) ก็ได้ตีพิมพ์ส่วนแรก (fascicle) ของพจนานุกรมฉบับจริงขึ้น ในตอนนี้ชื่อเต็มของพจนานุกรมนี้คือ พจนานุกรมภาษาอังกฤษฉบับใหม่ อิงหลักการเชิงประวัติ; จัดทำจากเอกสารที่รวบรวมโดยสมาคมอักษรศาสตร์เป็นหลัก (A New English Dictionary on Historical Principles; Founded Mainly on the Materials Collected by The Philological Society) ในการตีพิมพ์ครั้งนี้ มีด้วยกัน 352 หน้า เริ่มตั้งแต่คำที่ขึ้นต้นด้วยอักษร "A" จนถึง "Ant" โดยมีราคา 12 ชิลลิง 6 เพนนี (เทียบปัจจุบัน คือ 62.5 เพนนี) โดยมียอดขายทั้งหมดเพียง 4,000 เล่มเท่านั้น

ตอนนี้ปรากฏชัดแล้ว ว่า สำนักพิมพ์แห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดคงจะใช้เวลานานมาก จึงจะทำงานให้เสร็จสมบูรณ์ หากยังไม่ได้แก้ไขปรับปรุงงานบรรณาธิการ ด้วยเหตุนี้ จึงมีการสนับสนุนเงินทุนเพิ่มเติมสำหรับผู้ช่วย แต่ได้ก็ผลตอบแทนใหม่สองอย่างแก่เมอร์เรย์ อย่างแรกคือ ให้เขาย้ายจากมิลล์ ฮิลล์ มายังเมืองออกซฟอร์ด ซึ่งเขาตกลงย้ายใน ค.ศ. 1885 และเมื่อมาถึงออกซฟอร์ด เขาก็ได้สร้างสคริปทอเรียมขึ้นอีก ในที่ดินของเขา (และเพื่อไม่ให้เพื่อนบ้านลำบากใจ เขาจึงสร้างอาคารลงใต้ดินครึ่งชั้น) และสำนักงานไปรษณีย์ออกซฟอร์ด ก็ได้ติดตั้งตู้ไปรษณีย์กลมแบบใหม่ ที่หน้าบ้านของเขาพอดี

เมอร์เรย์ไม่ยอมตามคำขอประการที่สองอีก นั่นคือ หากเขาไม่สามารถทำตามแผนงานที่ต้องการได้ เขาจะต้องว่าจ้างบรรณาธิการอาวุโสคนที่สอง เพื่อทำงานคู่ขนนานกัน โดยอยู่นอกเหนือการควบคุมดูแลของเขา เขาไม่อยากแบ่งกับคนอื่น และรู้สึกว่าในที่สุดแล้ว เมื่อเขามีประสบการณ์ งานก็จะเร็วกว่านี้ แต่ความจริงมิได้เป็นเช่นนั้น และในที่สุด ฟิลิป เจลล์ แห่งสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดก็ทำให้เขาต้องยอมตาม กล่าวคือ เฮนรีย์ แบรดลีย์ ซึ่งเมอร์เรย์เคยจ้างเป็นผู้ช่วยเมื่อ ค.ศ. 1884 ก็ได้รับการเลื่อนตำแหน่ง และเริ่มทำงานโดยอิสระใน ค.ศ. 1885 ในห้องทำงานหนึ่ง ในพิพิธภัณฑ์บริติชมิวเซียม ในกรุงลอนดอน และใน ค.ศ. 1896 แบรดลีย์ก็ย้ายมายังออกซฟอร์ดเช่นกัน โดยทำงานที่ในมหาวิทยาลัย

เจลล์เริ่มทำให้บรรณาธิการทั้งสองอึดอัดใจ กับเป้าหมายทางการค้าจากต้นทุนและการผลิตที่รวดเร็ว จนไปถึงจุดที่โครงการดูเหมือนจะล้ม แต่เมื่อมีการตีพิมพ์รายงานดังกล่าว ก็เริ่มมีความคิดเห็นจากสาธารณชนกลับมายังบรรณาธิการ จากนั้นเจลล์ก็ล้มเลิกความคิดดังกล่าว และมหาวิทยาลัยก็ยกเลิกนโยบายเกี่ยวกับต้นทุนของเขา หากบรรณาธิการรู้สึกว่าพจนานุกรมนี้จะเติบโตใหญ่กว่าที่ตนเคยมีส่วนร่วม ก็ต้องทำ เพราะมันเป็นงานใหญ่ที่ต้องใช้ทั้งเวลาและเงินทุนอย่างพอเพียงจึงจะสำเร็จลงได้

แต่ไม่ว่าเมอร์เรย์ หรือแบรดลีย์ ก็ไม่ได้อยู่ดูความสำเร็จของงานดังกล่าว เมอร์เรย์นั้นเสียชีวิตเมื่อ ค.ศ. 1915 โดยได้รับผิดชอบคำศัพท์ ตั้งแต่ A-D, H-K, O-P และ T หรือเกือบครึ่งของพจนานุกรมเล่มสมบูรณ์ ส่วนแบรดลีย์นั้นเสียชีวิตเมื่อ ค.ศ. 1923 รับผิดชอบคำศัพท์ ตั้งแต่ E-G, L-M, S-Sh, St และ W-We แต่ในตอนนี้บรรณาธิการเสริมสองคน ได้รับการเลื่อนตำแหน่ง จากผู้ช่วย เป็นบรรณาธิการ ทำงานอิสระต่อกัน ทำให้งานดำเนินต่อไปโดยไม่มีปัญหามากนัก ทั้งนี้ วิลเลียม เครกี (William Craigie) ได้เริ่มงานเมื่อ ค.ศ. 1901 รับผิดชอบตั้งแต่ N, Q-R, Si-Sq, U-V และ Wo-Wy ขณะที่สำนักพิมพ์แห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดนั้น เคยรู้สึกว่าลอนดอนไกลจากออกซฟอร์ดเกินไป สำหรับให้บรรณาธิการทำงานที่นั่น แต่หลัง ค.ศ. 1925 เครกีได้ทำงานพจนานุกรมนี้ในเมืองชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา ซึ่งเขาได้งานตำแหน่งศาสตราจารย์ที่นั่น สำหรับบรรณาธิการคนที่สี่ คือ ชาลส์ แทลบัต อันยันส์ เริ่มทำงานเมื่อ ค.ศ. 1914 ครอบคลุมส่วนที่เหลือทั้งหมด คือ ตั้งแต่ Su-Sz, Wh-Wo และ X-Z

งานส่วนแรก

เมื่อต้นปี ค.ศ. 1894 มีการตีพิมพ์งานส่วนแรก 11 ชิ้น โดยใช้เวลาประมาณ 1 ปี นั่นคือ 4 ชิ้น สำหรับอักษร A-B 5 ชิ้น สำหรับอักษร C และ 2 ชิ้น สำหรับอักษร Eในจำนวนนี้ 8 ชิ้นรวมกัน มีความยาว 352 หน้า ขณะที่ชิ้นสุดท้ายในแต่ละกลุ่มถูกตัดลงเมื่อจบตัวอักษร (ซึ่งในที่สุดก็กลายเป็นหน้าสุดท้ายของชุด) ณ จุดนี้ ถือว่าเป็นการตีพิมพ์งานส่วนย่อยลง แต่พิมพ์ถี่มากขึ้น นั่นคือ ตีพิมพ์สามแดือนครั้ง โดยเริ่มตั้งแต่ ค.ศ. 1895 ในตอนนี้มีงานส่วนแรก 64 หน้า ราคา 2 ชิลลิง 6 เพนนี (12.5 เพนนี) หากมีวัสดุพอเพียง คงจะสามารถตีพิมพ์ได้รวม 128 หน้า หรือ 192 หน้าด้วยกัน แต่ช่วงดังกล่าวยังไม่สามารถตีพิมพ์ชุดใหญ่ได้ จนกระทั่งเหตุการณ์ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้ต้องลดพนักงานลง แต่ก็มีการพิมพ์เป็นส่วนๆ โดยใช้กระดาษขนาดใหญ่แบบเดิม สำหรับผู้ที่นิยมแบบนี้ และมีการพิมพ์ต่อเนื่องเป็นระยะๆ

การเปลี่ยนแปลงครั้งที่สอง ในปี ค.ศ. 1895 คือ การใช้ชื่อว่า "พจนานุกรมภาษาอังกฤษ ฉบับออกซฟอร์ด" (Oxford English Dictionary; OED) แต่พิมพ์เฉพาะบนปกนอกของการตีพิมพ์งานส่วนแรกเท่านั้น ชื่อเดิมนั้นยังคงเป็นชขื่อทางการ และปรากฏในที่อื่นๆ ทั้งหมด

การพิมพ์ครั้งที่ 125 และถือเป็นงานส่วนแรกชิ้นสุดท้าย ครอบคลุมคำศัพท์จาก Wise จนถึงท้ายสุดของหมวด W โดยได้ตีพิมพ์ในวันที่ 19 เมษายน ค.ศ. 1928 และพจนานุกรมฉบับสมบูรณ์เย็บเล่มเป็นชุดก็ตีพิมพ์ตามติดในเวลาต่อมา

ฉบับพิมพ์ครั้งแรก และฉบับพิมพ์เสริมครั้งแรก

เดิมมีการวางแผนที่จะตีพิมพ์พจนานุกรมภาษาอังกฤษฉบับใหม่นี้ เป็น 10 เล่มชุด (Volume) โดยเริ่มตั้งแต่ A, C, D, F, H, L, O, Q, Si และ Ti แต่เมื่อโครงการดำเนินไป เล่มชุดต่อมาเริ่มใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และขณะที่ฉบับพิมพ์สมบูรณ์อย่างเป็นทางการ ปี 1928 ยังคงเรียงหมายเลขตามที่เจตนาเอาไว้ เล่มชุดที่ 9 และ 10 กลับต้องตีพิมพ์เป็นชุดละสองเล่ม โดยแยกที่ Su และ V ตามลำดับ เป็นอันว่าพจนานุกรมทั้งชุดนี้ ตีพิมพ์รวม 20 เล่มชุด โดยเลือกเย็บเล่มสองแบบ ราคา 55 หรือ 55 กีนี (52.50 หรือ 57.75 ปอนด์) ขึ้นกับรูปแบบและการเย็บเล่ม

นับเป็นเวลา 44 ปี ตั้งแต่เริ่มตีพิมพ์คำศัพท์ A-Ant และแน่นอนว่า ภาษาอังกฤษก็มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน ดังนั้น ในเวลานี้ พจนานุกรมชุดแรกๆ จึงล้าสมัยอย่างชัดเจน ทางแก้ปัญหาสำหรับคณะทำงานเดิมในเวลานั้นก็คือ ออกชุดเสริมพิเศษ (Supplement) ขึ้น โดยเรียงลำดับคำทั้งหมด และความหมายที่เปลี่ยนแปลง นับตั้งแต่หน้านั้นๆ ตีพิมพ์เป็นครั้งแรก การทำงานดังกล่าวทำให้มีโอกาสแก้ไขความผิดพลาด หรือข้อบกพร่องต่างๆ ที่พบ สำหรับค่าใช้จ่ายของฉบับปี 1928 นั้น ตกลงได้ว่าจะทำฉบับเสริมพิเศษนี้แถมฟรีไปกับฉบับหลัก

พจนานุกรมฉบับเสริมพิเศษนี้ จัดทำโดยบรรณาธิการสองคนเช่นเดิม โดยทำงานคู่ขนานกัน ในเวลานี้ เครกีซึ่งทำงานอยู่ในสหรัฐอเมริกา ก็ทำการวิจัยส่วนใหญ่เกี่ยวกับการใช้ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน นอกจากนี้ยังแก้ไขคำศัพท์หมวด L-R และ U-Z ขณะที่อันยันส์แก้ไขหมวด A-K และ S-T งานทั้งหมดนี้ใช้เวลาอีก 5 ปีจึงสำเร็จ

ในปี 1933 มีการตีพิมพ์พจนานุกรมทั้งชุดอีกครั้ง ตอนนี้ใช้ชื่อเป็นทางการว่า พจนานุกรมภาษาอังกฤษ ฉบับออกซฟอร์ด (Oxford English Dictionary) เป็นครั้งแรก การตีพิมพ์เล่มชุดหลังจาก 6 ชุดแรกนั้นถูกปรับให้มีขนาดเท่าๆ กัน เพื่อจะได้ไม่ต้องมีชุดที่ตีพิมพ์สองเล่มอีก พจนานุกรมหลักในตอนนี้จึงมีทั้งหมด 12 เล่ม เรียงตามลำดับ ดังนี้ A, C, D, F, H, L, N, Poyesye, S, Sole, T และ V ส่วนฉบับเสริมพิเศษจัดไว้เป็นเล่มที่ 13 โดยตั้งลดราคาเหลือ 20 กีนี (21 ปอนด์)

ฉบับพิมพ์ครั้งที่สอง และฉบับเสริมพิเศษชุดที่สอง

ในปี 1933 มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดได้พักเรื่องพจนานุกรมเอาไว้ชั่วคราว งานทั้งหมดสิ้นสุด แผ่นบันทึกคำศัพท์ถูกนำไปจัดเก็บ แต่แน่นอนว่าภาษาอังกฤษนั้นยังคงเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง และเมื่อเวลาผ่านไป 20 ปี พจนานุกรมก็ล้าสมัยเสียแล้ว

มีหนทางเป็นไปได้ 3 ทางที่จะปรับปรุงพจนานุกรมให้ทันสมัย วิธีที่ประหยัดที่สุด คือ เก็บไว้เฉพาะคำที่ใช้ในปัจจุบัน และรวบรวมฉบับเสริมพิเศษใหม่ ซึ่งอาจจุคำศัพท์ 1-2 เล่ม แต่สำหรับคนที่ต้องการหาคำ หรือความหมาย และไม่แน่ใจเกี่ยวกับอายุของคำ ก็จะต้องมองหาจากพจนานุกรมถึง 3 ที่ด้วยกัน มิฉะนั้นก็รวมฉบับเสริมพิเศษที่มีอยู่กับข้อมูลใหม่ เป็นฉบับเสริมพิเศษที่ใหญ่ขึ้น สำหรับหนทางที่สะดวกที่สุดสำหรับผู้ใช้พจนานุกรม ก็น่าจะเป็นการใช้พจนานุกรมชุดเดียว มาปรับปรุงแก้ไขใหม่ และเรียงพิมพ์ใหม่ โดยการเปลี่ยนแปลงแต่ละอย่างนั้น จะรวมในตำแหน่งที่เหมาะสมตามลำดับอักษร แต่ก็แน่นอนว่าวิธีนี้คงจะแพงที่สุด และอาจตีพิมพ์ทั้งหมด 15 เล่มชุดด้วยกัน

สุดท้ายสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดก็เลือกทางสายกลาง คือ ผลิตฉบับเสริมพิเศษขึ้นใหม่ ทั้งนี้มีการว่าจ้างโรเบิร์ต เบิร์ชฟีลด์ (Robert Burchfield) ในปี 1957 ให้มาเป็นบรรณาธิการ ส่วนชาลส์ แทลบัต อันยันส์ ซึ่งเวลานั้นอายุ 84 ปีแล้ว ก็ยังคงทำงานบางส่วนอยู่ด้วย งานทั้งหมดนี้คาดว่าจะใช้เวลา 7-10 ปีด้วยกัน แต่เมื่อทำจริงปรากฏว่าใช้เวลาถึง 29 ปี เมื่อสำเร็จ ฉบับเสริมพิเศษชุดใหม่โตขึ้นเป็น 4 เล่ม เริ่มตั้งแต่ A, H, O และ Sea มีการทยอยตีพิมพ์ ในปี 1972, 1976, 1982 และ 1986 ตามลำดับ ทำให้พจนานุกรมฉบับสมบูรณ์มีจำนวนเล่มถึง 16 เล่ม (หรือ 17 เล่ม หากรวมฉบับเสริมพิเศษชุดแรกด้วย)

อย่างไรก็ตาม ในคราวนี้ ข้อความในพจนานุกรมทั้งหมดมีการบันทึกในคอมพิวเตอร์ และจัดระบบออนไลน์ ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวต้องมีการเรียงพิมพ์ใหม่อีกครั้ง แต่คราวนี้สามารถสืบค้นด้วยคอมพิวเตอร์ได้ และเมื่อใดต้องการจัดพิมพ์พจนานุกรมฉบับใหม่ ก็จะเริ่มต้นด้วยการรวมเอาฉบับเสริมพิเศษ และพจนานุกรมเข้าไว้ด้วยกัน

การแก้ไขรายการคำศัพท์ของ NOED โดยใช้ LEXX

และนับแต่นั้น โครงการ "พจนานุกรมภาษาอังกฤษใหม่ ฉบับออกซฟอร์ด" (New Oxford English Dictionary; NOED) ก็เริ่มต้นขึ้น การเรียงพิมพ์ข้อความอย่างเดียวนั้นไม่พอเพียง ข้อมูลทั้งหมดถูกแทนด้วย typography ที่ซับซ้อน จากพจนานุกรมเดิมที่จะต้องคงไว้ ซึ่งสำเร็จด้วยการกำหนดเนื้อหาใน SGML และโปรแกรมสืบค้น (search engine) พิเศษ และยังมีซอฟต์แวร์แสดงผลเพื่อการเข้าถึงเนื้อหาอีกด้วย ในสัญญาปี 1985 ซอฟต์แวร์บางตัวได้ทำงานที่มหาวิทยาลัยวอเตอร์ลูในแคนาดา ที่ ศูนย์พจนานุกรมอังกฤษใหม่ ฉบับออกซฟอร์ด (Centre for the New Oxford English Dictionary) หัวหน้าคณะคือแฟรงค์ วิลเลียม ทอมปา (Frank William Tompa) และแกสตน กอนเน็ต (Gaston Gonnet) เทคโนโลยีการสืบค้นนี้จะนำไปสู่การใช้งานเป็นพื้นฐานสำหรับ Open Text Corporation ทั้งนี้บริษัทลูกของไอบีเอ็มในอังกฤษได้บริจาคฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ฐานข้อมูล และซอฟต์แวร์อื่นๆ ให้ และบรรณาธิการควบคุมระบบสีสำหรับโครงการนี้ด้วย LEXX เก็บถาวร 2006-02-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เขียนโดย ไมค์ คาวลิชอ (Mike Cowlishaw) แห่งไอบีเอ็ม

ในปี 1989 โครงการ NOED ก็บรรจุเป้าหมายเบื้องต้น และบรรณาธิการ (เอดมันด์ ไวเนอร์ และ จอห์น ซิมป์สัน) ซึ่งงานแบบออนไลน์ ก็ประสบความสำเร็จในการรวมข้อความเดิม ฉบับเสริมพิเศษของเบอร์ชฟีลด์ และข้อมูลใหม่อีกจำนวนหนึ่ง มารวมพจนานุกรมฉบับรวมเล่มเดียว คำว่า "ใหม่" ในที่นี้ถูกตัดทิ้งไปจากชื่ออีกครั้ง และในที่สุดก็ตีพิมพ์ฉบับที่สอง หรือ OED2 ขึ้น (ดังนั้น ฉบับแรก จึงเรียกย่อๆ ว่า OED1)

พจนานุกรม OED2 นี้ตีพิมพ์เป็น 20 เล่มชุด นับเป็นครั้งแรกที่ไม่ต้องเริ่มต้นจากขอบเขตของตัวอักษร และสามารถตีพิมพ์ให้มีขนาดใกล้เคียงกันได้ พจนานุกรมทั้งหมด 20 เล่มนั้น เรียงลำดับดังนี้ A, B.B.C., Cham, Creel, Dvandra, Follow, Hat, Interval, Look, Moul, Ow, Poise, Quemadero, Rob, Ser, Soot, Su, Thru, Unemancipated และ Wave

แม้ว่าเนื้อหาของ OED2 ่ส่วนใหญ่จะเป็นการปรับรื้อเนื้อหาจากรุ่นก่อนๆ แต่การเรียงพิมพ์ใหม่ก็ถือว่าได้สร้างโอกาสที่ดีสำหรัยบการเปลี่ยนแปลงรูปแบบที่ต้องการในระยะยาว 2 อย่าง นั่นคือ คำหลัก ของแต่ละรายการนั้น ไม่ต้องเขียนด้วยตัวพิมพ์ใหญ่อีกตอ่ไป ทำให้ผู้ใช้พจนานุกรมเห็นคำศัพท์ที่ต้องการอักษรเป็นตัวพิมพ์ใหญ่ได้สะดวก และขณะที่เมอร์เรย์ได้ประดิษฐ์เครื่องหมายการออกเสียงของเขาเองเอาไว้ แต่ก็ไม่เป็นมาตรฐาน พจนานุกรมฉบับ OED2 จึงใช้สัทอักษรสากลที่ใช้ในปัจจุบันแทน

สำหรับเนื้อหาใหม่จะตีพิมพ์ไว้ใน พจนานุกรมภาษาอังกฤษ ฉบับออกซฟอร์ด ชุดเสริมพิเศษ (Oxford English Dictionary Additions Series) เป็น 2 เล่มชุดเล็ก ในปี 1993 และพิมพ์ครั้งที่ 3 ในปี 1997 ทำให้พจนานุกรมทั้งหมดมีด้วยกัน 23 เล่ม ชุดเสริมพิเศษแต่ละชุดจะมีนิยามศัพท์ใหม่เพิ่มประมาณ 3,000 คำ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีแผนที่จะทำเล่มชุดเพิ่ม และคาดว่าคงจะไม่มีการพิมพ์ครั้งที่ 3 (หรือ OED3) เป็นแบบงานส่วนแรก อย่างที่เคยทำมาในอดีตอีก

ฉบับกะทัดรัด

ขณะเดียวกัน ในปี 1971 ก็มีการตีพิมพ์ซ้ำเนื้อหาเต็มของ OED1 ฉบับ 13 เล่มชุดจาก ปี 1933 เป็นฉบับกะทัดรัด (Compact Edition) เป็น 2 เล่มชุด ทั้งนี้อาศัยการถ่ายย่อจากฉบับเดิมเหลือ 1/2 จากมิติระนาบ ทำให้ 4 หน้าเดิมจุได้ใน 1 หน้าใหม่ พจนานุกรมฉบับกะทัดรัด 2 เล่มชุดนี้ เริ่มต้นด้วยหมวดอักษร A และ P โดยมีฉบับเสริมพิเศษเพิ่มไว้ที่ด้านหลังของเล่ม 2

พจนานุกรมฉบับกะทัดรัดจัดจำหน่ายใส่กล่องเรียบร้อย เป็นลิ้นชักขนาดเล็ก พร้อมแว่นขยาย เพื่อช่วยให้ผู้อ่านสามารถอ่านตัวพิมพ์ที่มีขนาดเล็กจิ๋วได้ (ขนาดกะทัดรัดนั้น แม้คนที่สายตาดี ก็แทบจะอ่านด้วยตาเปล่าได้ไม่ชัด) มีการขายฉบับกะทัดรัดนี้ได้เป็นจำนวนมากโดยผ่านสโมสรหนังสือ ซึ่งจัดจำหน่ายในราคาย่อมเยา เป็นสินค้าพิเศษสำหรับสมาชิก

ในปี 1987 มีการตีพิมพ์ฉบับเสริมพิเศษ ชุดที่สอง เป็นเล่มที่ 3 รวมอยู่ในชุดกะทัดรัดดังกล่าว และในปี 1991 พจนานุกรม OED2 ก็เปลี่ยนแปลงรูปแบบของฉบับกะทัดรัดเป็น ⅓ ของขนาดเดิม (ในเชิงระนาบ) คือ 9 หน้าเดิม เท่ากับ 1 หน้าใหม่ ทำให้ไม่สามารถอ่านด้วยตาเปล่าได้เลย ต้องอาศัยแว่นขยายเท่านั้น โดยตีพิมพ์เป็น 1 เล่มเดี่ยวเป็นครั้งแรก แม้แต่จะมีการตีพิมพ์ฉบับกะทัดรัดจิ๋วแล้ว สโมสรหนังสือทั้งหลายก็ยังเสนอขายรุ่นกะทัดรัด 2 เล่มชุด ปี 1971 แบบเดิมอย่างต่อเนื่องโดยทั่วไป ทั้งนี้มักปรากฏข้อความชมเชยว่าฉบับพิมพ์กะรัดทัด 2 เล่มชุดนั้น อ่านง่ายกว่า (ขนาดตัวอักษรใหญ่กว่า) และสะดวกกว่า (เล่มเล็กกว่า) นอกจากนี้คุณภาพของกล่องก็ดี และมีแว่นขยายให้ด้วย

รุ่นอิเล็กทรอนิกส์

หน้าจอของพจนานุกรม OED ซีดีรอม ครั้งแรก

ถึงตอนนี้ ข้อความทั้งหมดของพจนานุกรมถูกแปลงเป็นดิจิทัลและออนไลน์แล้ว และยังมีการจัดทำฉบับซีดีรอมด้วย โดยมีทั้งหมด 3 รุ่นหรือเวอร์ชัน ด้วยกัน รุ่น 1 (1992) เนื้อหาตรงกับฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 และในแผ่นซีดีเองนั้นก็ไม่ป้องกันการคัดลอก ส่วนรุ่น 2 (1999) มีการเพิ่มเติมเล็กน้อย และใช้ซอฟต์แวร์ที่ปรับปรุงใหม่ พร้อมความสามารถสืบค้นที่ดีขึ้น แต่มีการป้องกันการคัดลอก ทำให้ใช้งานยาก และโปรแกรมยังปฏิเสธการใช้ของเจ้าหน้าที่สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ในระหว่างการสาธิตสินค้าด้วย รุ่น 3 (2002) มีคำศัพท์เพิ่มเติม และปรับปรุงซอฟต์แวร์ด้วย แต่ยังมีการป้องกันการคัดลอก และใช้งานได้เฉพาะกับระบบปฏิบัติการวินโดวส์ของไมโครซอฟท์เท่านั้น

ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2000 "พจนานุกรมภาษาอังกฤษ ฉบับออกซฟอร์ด ออนไลน์" (Oxford English Dictionary Online; OED Online) ก็มีจำหน่ายแก่สมาชิก ฐานข้อมูลออนไลน์ประกอบด้วยพจนานุกรม OED2 ทั้งหมด และยังปรับปรุงแก้ไขถึง 1/4 ซึ่งจะรวมอยู่ใน OED3 (ดูข้างล่าง) ฉบับออนไลน์นี้ถือเป็นพจนานุกรมฉบับที่ทันสมัยที่สุดที่มีอยู่

หน้าจอของพจนานุกรม OED ฉบับออนไลน์

สำหรับราคาการใช้บริการส่วนบุคคลของพจนานุกรมฉบับออนไลน์นี้ แม้จะลดแล้วในปี 2004 ก็ยังอยู่ในอัตรา 195 ปอนด์ หรือ 295 ดอลลาร์ ต่อปี ผู้สมัครเป็นสมาชิกส่วนใหญ่คือองค์กรขนาดใหญ่ เช่น มหาวิทยาลัย ผู้ใหญ่บางรายจะไม่ใช้พจนานุกรมภาษาอังกฤษ ฉบับออกซฟอร์ด ออนไลน์ผ่านอินเทอร์เน็ต แต่จะดาวน์โหลดฐานข้อมูลทั้งหมดโดยถูกกฎหมายลงมายังคอมพิวเตอร์ขององค์กรนั้นๆ

ในปี 2004 มีการนำเสนอวิธีการจ่ายเงินที่น่าสนใจมากกว่าเดิมเล็กน้อย นั่นคือ เสนอให้ผู้ใช้ในประเทศในทวีปอเมริกาเหนือ และอเมริกาใต้ มีโอกาสจ่ายเงิน 29.95 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน เพื่อเข้าใช้งานออนไลน์ ทำให้ผู้ที่ไม่ค่อยได้เข้าใช้ สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากพอสมควร

พิมพ์ครั้งที่สาม

ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 (OED3) เป็นงานที่ตั้งใจจะใช้คอมพิวเตอร์ทำเกือบทั้งหมด ใน ค.ศ. 2005 จอห์น ซิมป์สัน เป็นบรรณาธิการใหญ่ เนื่องจากงานชิ้นแรกของบรรณาธิการแต่ละคนมีแนวโน้มที่ต้องการการปรับปรุงมากกว่าผลของเขาในสมัยก่อน ซึ่งมีความสมบูรณ์เรียบร้อยกว่า จึงต้องมีการถ่วงดุลปรากฏการณ์ดังกล่าว โดยการเริ่มทำงานตั้งแต่เนิ่นๆ และอาจเป็นงานที่อาจปรับปรุงจากอักษรอื่นก่อน แทนที่จะเริ่มด้วยอักษร A

ด้วยเหตุนี้ งานหลักของ OED3 จึงดำเนินไปตามลำดับจากอักษร M เมื่อมีการเผยแพร่ OED ฉบับออนไลน์ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2000 มีชุดแรกของรายการที่แก้ไขแล้ว (ระบุโดยทางการว่าเป็นรายการฉบับร่าง) ที่ขยายมาจาก M จนถึง mahurat และข้อความส่วนที่ต่อเนื่องไปจะเผยแพร่สามเดือนครั้ง เมื่อถึงเดือนมีนาคม ค.ศ. 2006 ส่วนปรับปรุงแก้ไขก็คืบหน้าไปถึงคำที่เริ่มต้นด้วย pi เมื่องานชิ้นใหม่สำเร็จลงในคำศัพท์ในส่วนอื่นๆ ก็จะมีการเผยแพร่คราวละสามเดือนเช่นกัน

เนื้อหาใหม่นี้จะอ่านได้จาก OED Online (โดยการสมัครสมาชิก หรือจากห้องสมุดที่ให้บริการนี้) หรือจากฉบับซีดีรอม ที่มีการปรับข้อมูลเป็นระยะสม่ำเสมอ นอกจากนี้ยังเป็นไปได้ว่า OED3 คงจะไม่มีการตีพิมพ์เป็นเล่มชุดแบบเดิม แต่จะหาซื้อได้จากสื่อคอมพิวเตอร์เท่านั้น ประเด็นนี้จะเป็นการตัดสินใจอีกครั้งในอนาคต เมื่อการปรับปรุงแก้ไขใกล้เสร็จสมบูรณ์

แน่นอนว่า การผลิตพจนานุกรมฉบับพิมพ์ครั้งใหม่จริงๆ นั้น จะใช้ประโยชน์จากคอมพิวเตอร์อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน ค.ศ. 2005 มีการใช้โปรแกรมประยุกต์ "Perfect All-Singing All-Dancing Editorial and Notation Application" หรือ Pasadena และด้วยระบบที่ใช้ XML นี้ ความสนใจของนักทำพจนานุกรม อาจอยู่ที่เนื้อหา มากกว่าประเด็นการนำเสนอ เช่น การกำหนดหมายเลขของนิยาม ระบบใหม่นี้ยังทำให้ใช้ฐานข้อมูลข้อความอ้างอิงให้ง่ายลง และทำให้เจ้าหน้าที่ซึ่งอยู่ในนิวยอร์กได้ทำงานโดยตรงกับพจนานุกรมในลักษณะเดียวกับผู้ร่วมงานในออกซฟอร์ด

การใช้งานคอมพิวเตอร์ที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ การสืบค้นผ่านอินเทอร์เน็ต เพื่อหาหลักฐานการใช้ในปัจจุบัน และการรับข้อความจากผู้อ่านและสาธารณะทั่วไปโดยผ่านอีเมล

การสะกด

พจนานุกรมภาษาอังกฤษ ฉบับออกซฟอร์ด ได้บันทึกการสะกดแบบอังกฤษสำหรับคำหลักเอาไว้ก่อน (ตัวอย่าง เช่น labour และ centre) ตามด้วยการสะกดแบบอื่น (labor, center เป็นต้น) นโยบายของสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดยังบ่งชี้ว่ามีการใช้ปัจจัย "-ize" (แทนที่จะเป็น -ise) สำหรับคำมากมาย มากกว่าที่ลงท้ายด้วย -ise ถ้ารากศัพท์นี้เป็นภาษาละติน ไม่ใช่ภาษากรีก หลักการสำหรับนโยบายนี้ ขัดแย้งกับความเชื่อของคนทั่วไป ว่า -ize เป็นภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน[2]

ประโยคที่ว่า "The group analysed labour statistics published by the organization" เป็นตัวอย่างการปฏิบัติของสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด การสะกดเช่นนี้ ซึ่งระบุได้จาก ป้ายข้อมูลภาษาจดทะเบียนของ IANA ว่า en-GB-oed ก็ถูกนำไปใช้โดยองค์การสหประชาชาติ องค์การการค้าโลก องค์กรนานาชาติสำหรับการกำหนดมาตรฐาน และองค์กรอื่นๆ รวมทั้งสำนักพิมพ์ทางวิชาการมากมาย เช่น Nature, Biochemical Journal และ Times Literary Supplement เป็นต้น

อ้างอิง

  1. Andrew Dickson, "Inside the OED: can the world’s biggest dictionary survive the internet?", The Guardian, 23 February 2018 (page visited on 23 February 2018).
  2. อ่านได้ที่ AskOxford : Are spellings like 'privatize' and 'organize' Americanisms? เก็บถาวร 2007-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ตัวอย่างเช่น คำว่า Globalization (โลกาภิวัตน์) ซึ่ง OED ใช้ตัวสะกด -ization เป็นหลัก
  • Oxford English Dictionary, second edition, edited by John Simpson and Edmund Weiner, Clarendon Press, 1989, 20 เล่มชุด, hardcover, ISBN 0-19-861186-2
  • Caught in the Web of Words: J. A. H. Murray and the Oxford English Dictionary, K. M. Elisabeth Murray, Oxford University Press and Yale University Press, 1977; new edition 2001, Yale University Press, ISBN 0-300-08919-8 (trade paperback).
  • Empire of Words, The Reign of the Oxford English Dictionary, John Willinsky, Princeton University Press, 1995, hardcover, ISBN 0-691-03719-1
  • The Meaning of Everything: The Story of the Oxford English Dictionary, Simon Winchester, Oxford University Press, 2003, hardcover, ISBN 0-19-860702-4
  • (UK title) The Surgeon of Crowthorne / (US title) The Professor and the Madman: A Tale of Murder, Insanity, and the Making of The Oxford English Dictionary, Simon Winchester; see The Surgeon of Crowthorne article for full details of the various editions.
  • Lost for Words: The Hidden History of the Oxford English Dictionary, Lynda Mugglestone, Yale University Press, 2005, hardcover, ISBN 0-300-10699-8
  • Green, Jonathon, Chasing the Sun: Dictionary Makers and the Dictionaries They Made, Jonathan Cape, 1996, ISBN 0-224-04010-3 (ปกแข็ง).

แหล่งข้อมูลอื่น

Kembali kehalaman sebelumnya


Index: pl ar de en es fr it arz nl ja pt ceb sv uk vi war zh ru af ast az bg zh-min-nan bn be ca cs cy da et el eo eu fa gl ko hi hr id he ka la lv lt hu mk ms min no nn ce uz kk ro simple sk sl sr sh fi ta tt th tg azb tr ur zh-yue hy my ace als am an hyw ban bjn map-bms ba be-tarask bcl bpy bar bs br cv nv eml hif fo fy ga gd gu hak ha hsb io ig ilo ia ie os is jv kn ht ku ckb ky mrj lb lij li lmo mai mg ml zh-classical mr xmf mzn cdo mn nap new ne frr oc mhr or as pa pnb ps pms nds crh qu sa sah sco sq scn si sd szl su sw tl shn te bug vec vo wa wuu yi yo diq bat-smg zu lad kbd ang smn ab roa-rup frp arc gn av ay bh bi bo bxr cbk-zam co za dag ary se pdc dv dsb myv ext fur gv gag inh ki glk gan guw xal haw rw kbp pam csb kw km kv koi kg gom ks gcr lo lbe ltg lez nia ln jbo lg mt mi tw mwl mdf mnw nqo fj nah na nds-nl nrm nov om pi pag pap pfl pcd krc kaa ksh rm rue sm sat sc trv stq nso sn cu so srn kab roa-tara tet tpi to chr tum tk tyv udm ug vep fiu-vro vls wo xh zea ty ak bm ch ny ee ff got iu ik kl mad cr pih ami pwn pnt dz rmy rn sg st tn ss ti din chy ts kcg ve 
Prefix: a b c d e f g h i j k l m n o p q r s t u v w x y z 0 1 2 3 4 5 6 7 8 9