แดง จิตกร
แดง จิตกร หรือชื่อจริงว่า สมจิตร เกตุภูเขียว (ชื่อเล่น: แดง) เกิดเมื่อวันที่ (14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2513 – 30 เมษายน พ.ศ. 2559) เป็นนักร้องลูกทุ่ง สังกัดค่ายท็อปไลน์ ไดมอนด์ ผลงานเพลงที่มีชื่อเสียง อาทิ น้ำตาผ่าเหล้า หัวใจคิดฮอด มนต์รัก ตจว. [2] แดง จิตกร เป็นคนขอนแก่น จบการศึกษาระดับชั้น ป.4 ด้วยความที่พ่อแม่เลิกกัน เขาจึงอยู่กับยายมาตั้งแต่เด็ก และความที่เป็นลูกชาวนาชาวไร่ ทำให้เขามุมานะอดทนทำงานสารพัดที่ขอนแก่น แต่ด้วยใจรักเสียงเพลง ผลักให้ตัวเองเข้ามาสมัครเป็นคอนวอยในวงดนตรี ชื่อว่า "วงชุมแพ คอมพิวเตอร์" ที่ขอนแก่น ด้วยใจคิดฝันไปว่าวันข้าง หัวหน้าคณะจะให้ร้องเพลงบ้างแล้ววันหนึ่งนักร้องประจำวงป่วย เขาจึงถูกเรียกตัวให้ร้องแทน วันนั้นทำได้ดี จึงถูกจ้างให้เป็นนักร้องประจำวง ตั้งแต่นั้นมาเส้นทางนักร้องเริ่มต้นขึ้น เมื่อเขาได้มีโอกาสทำเพลง และให้บริษัทท็อปไลน์ ฯ เป็นผู้จัดจำหน่าย ผลงานที่ที่สร้างชื่อให้เขาก็คือ เพลง "น้ำตาผ่าเหล้า" และเพลง "หัวใจคิดฮอด" เป็นผลงานการแต่งของ “สลา คุณวุฒิ” [3] ประวัติพ.ศ. 2513 - 2536: ชีวิตวัยเด็กและก่อนเข้าสู่วงการแดง จิตกร เกิดที่ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น จากครอบครัวชาวนาที่แสนยากแค้น ครอบครัวมีปัญหาเพราะพ่อแม่แยกทางกันเดินตั้งแต่แดงอายุได้เพียง 2 ปี โดยทิ้งให้แดงผจญชะตากรรมอยู่กับยายเพียงลำพัง หลังแดงอายุได้ 13 ปี แดงต้องออกจากโรงเรียน จึงมีวุฒิแค่ประถมศึกษาปีที่ 4 เพราะยายอายุมากขึ้น บวกกับความยากจนหาเช้ากินค่ำ แดงต้องออกมารับจ้างทำนาโดยได้ส่วนแบ่งเป็นข้าวพอได้ประทังชีวิตกับยาย อาหารหลักที่แดงกับยายกินประจำคือ หน่อไม้ที่แดงต้องขึ้นไปหาบนภูเขา ที่ต้องเดินทางไปกลับไกลกว่า 15 กิโลเมตร และ กุ้ง ฝอย หอยขม ปูนา ปลาสารพัดชนิด ซึ่งหกยากเนื่องจากความแห้งแล้ง ด้วยความที่เป็นชอบร้องเพลงมาตั้งแต่เด็ก เมื่อว่างจากการรับจ้างทำนา แดงจึงไปสมัครเป็น คอนวอย อยู่วง "ชุมแพคอมพิวเตอร์" มีหน้าที่ทำทุกอย่างตั้งแต่ขนของขึ้นรถ ตั้งเวทีเครื่องเสียง แสงไฟ ใครเรียกใช้เวลาใดก็ต้องทำ โดยได้ค่าแรงวันละ 50 บาทต่องาน แดงเป็นคอนวอยอยู่กับวงถึง 4 ปี จึงได้มีโอกาสจับไมโครโฟน ร้องเพลง เพราะนักร้องประจำวงไม่สบาย แดงจึงได้ฝึกร้องเพลงและเล่นหมอลำอย่างจริงจังตั้งแต่บัดนั้น[4] พ.ศ. 2537 - 2541: เริ่มเข้าสู่วงการข้อมูลจากปกเทปชุดหนึ่งของแดง กล่าวว่า "ชีวิตแดง จิตกร เริ่มดีขึ้น ส่งเงินให้ยายใช้เป็นประจำ ส่วนตัวเขาก็อยู่กับวง "ชุมแพคอมพิวเตอร์" จึงได้เป็นพระเอกหมอลำอย่างเต็มตัว วันหนึ่งสุทัศน์ เอี่ยมชโลธร จากบริษัทนิธิทัศน์โปรโมชั่น ต้องการนักร้องและได้มาฟังแดง ร้องเพลง จึงเกิดชอบในน้ำเสียงและชักชวนแดงมาทำเพลง ซึ่งแดงดีใจมากที่ฝันของตนจะได้เป็นจริง สุทัศน์พาแดงเข้ากรุงเทพฯและทำเทปชุดแรกให้กับแดงทันทีโดยมี อ๊อด คีรีบูน เป็นโปรดิวเซอร์ ชื่อชุด "ร.ป.ภ.หัวใจ" ซึ่งเป็นแนวลูกทุ่งอีสานที่แดงถนัด แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จ" แดงผิดหวังมากและเริ่มท้อ จึงเลิกร้องเพลงเพราะคิดว่าคงไม่มีโอกาสเป็นนักร้องที่โด่งดังได้ จึงหันไปทำงานก่อสร้างและไปอยู่กับเรือหาปลาถึง 2 ปี ต่อมาแดงได้เจอกับ ป๊อด บัณฑิต เอี่ยมสะอาด ได้นำแดงกลับมาทำเพลงอีกครั้งในสังกัด เคซีเอสกรุ๊ป และทำอัลบั้มชุดที่ 2, 3, 4 และชุดที่ 5 ชื่อ "พี่แดงคนเดิม" ถึงแม้อัลบั้มจะไม่โด่งดัง แต่แดงก็ยังรู้สึกที่ได้ทำเพลงที่ตนเองรัก ซึ่งช่วงนั้น เคซีเอส ทำเพลงและให้ไดมอนด์ สตูดิโอ จัดจำหน่าย ในช่วงนั้น แดงได้เซ็นสัญญากับท็อปไลน์มิวสิค แต่ยังไม่มีการทำเพลงเพราะยังไม่ได้จังหวะ และแดง จิตกร ก็ไม่ใช่นักร้องดังมาก่อน[4] พ.ศ 2542 - 2544: อัลบั้ม ลืมใจไว้อีสาน และ การเป็นศิลปินสังกัดท็อปไลน์มิวสิค อย่างเต็มตัวหลังจากนั้น ในช่วงปี พ.ศ. 2542 ป๊อด บัณฑิต ได้นำแดงมามอบให้กับ เสี่ยแบงค์ แห่งบริษัท "ลาวัลย์เอนเตอร์เทนเมนท์" จังหวัดสกลนคร ซึ่ง ปัญญา คุณวุฒิ ได้เล่าให้ฟังว่า เสี่ยแบงค์ เจ้าของค่าย มีเพลงชุด ลืมใจไว้อีสาน ซึ่ง ครูสลา กับ ปัญญา คุญวุฒิ ได้เตรียมไว้ให้ "เอกชัย ศรีวิชัย" เพื่อนของเสี่ยแบงค์ ขับร้อง ซึ่งในชุดนี้มีเพลงชื่อ "น้ำตาผ่าเหล้า" ด้วย แต่จังหวะตอนนั้น เอกชัย กลับมาโด่งดังจาก "หมากัด" พอดี จึงไม่มีเวลาไปอัดเสียงชุดนี้ แดง ซึ่งว่างงานและโต๋เต๋อยู่แถวโรงงานการ์เมนท์ ได้อัดเพลง "น้ำตาผ่าเหล้า" ที่ อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ห้องอัด อ.หนุ่ม ภูไท จนเพลงนี้เพลงโด่งดังเปรี้ยงปร้าง แต่เพลงชุดนี้ มีปัญหาในการจัดจำหน่ายเพราะ เสี่ยแบงค์ นำไปให้ ซีเอ็นซี จัดจำหน่าย แต่ยอดขายช้า ทั้งๆที่เพลงดังมาก จึงพยายามนำมาให้ อาร์.เอส.โปรโมชั่น โดยมนต์ เมืองเหนือ จัดจำหน่าย แต่เมื่อได้ตรวจสอบสัญญาแล้ว พบว่า ป๊อด ได้เซ็นสัญญาแดง จิตกร กับค่ายท็อปไลน์มิวสิคไว้ก่อน ในช่วงที่ เคซีเอส ผลิต ท็อปไลน์ ขาย อาร์.เอส.จึงส่งกลับมาให้ท็อปไลน์ ซึ่งในเวลานั้น เสี่ยแบงค์ ค่ายลาวัลย์ จึงปั้น เขียว ดวงสดใส ขึ้นมา (มีชื่อเสียงโด่งดังจากเพลง "บ่ออนซอน") ต่อเนื่องกับแดง จิตกร ซึ่งเพลง "น้ำตาผ่าเหล้า" จึงเป็นเพลงที่มีปัญหาซับซ้อนเรื่องลิขสิทธิ์[4] และภายหลังเพลงนี้ได้ถูกนำไปใช้เป็นเพลงประกอบของรายการปลดหนี้ โดยใช้เฉพาะช่วงอินโทรของเพลง หลังจากอัลบั้ม ลืมใจไว้อีสาน ที่มีเพลง "น้ำตาผ่าเหล้า" เป็นเพลงดังในขณะนั้น ในปี พ.ศ. 2543 แดงได้ออกอัลบั้มเพลงในสังกัดท็อปไลน์มิวสิค ชื่อชุด "ผ่าเหล้าผ่ารัก" ถือว่าเป็นผลงานชุดที่ 7 ของเขา และเป็นชุดแรกในฐานะศิลปินสังกัดท็อปไลน์มิวสิค อย่างเป็นทางการ ต่อมาได้ออกอัลบั้มชุด "หัวใจคึดฮอด" ในปีเดียวกัน มีเพลงเปิดตัวชื่อเดียวกัน ที่ได้รับความนิยมมากต่อจาก "น้ำตาผ่าเหล้า" ในปี 2544 แดงได้ออกอัลบั้มอีก 2 ชุดคือ รักสลายข้างไหเหล้า และ น้ำตาหน้าด้าน ชึ่งได้รับความนิยมมาอย่างดี พ.ศ. 2545 - 2546: อัลบั้ม บอกอ้ายได้บ่ และ เพลง มนต์รัก ตจว.ก่อนที่แดงจะมีอัลบั้มชุดใหม่ แดงได้ร่วมแสดงภาพยนตร์ไทยเรื่อง มนต์เพลงลูกทุ่ง เอฟ.เอ็ม. ออกฉายเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545 โดยรับบทเป็นตัวประกอบในต้นเรื่อง ถือว่าเป็นผลงานการแสดงเรื่องแรกของเขา เดือนสิงหาคม ปีเดียวกัน แดงได้ออกอัลบั้มชุดที่ 11 ชื่อว่า บอกอ้ายได้บ่ มีเพลงเปิดตัวคือ "บอกอ้ายได้บ่" และ "มนต์รัก ตจว." ทั้ง 2 เพลงผลงานการแต่งของ "พิณ พานทอง" นักแต่งเพลงชื่อดังอีกคนของวงการเพลงลูกทุ่ง (อีกนามแฝงของครูสลา คุณวุฒิ ที่ใช้แต่งเพลงเพื่อเพื่อนพ้องและศิษย์ต่างค่าย)[2] หลังการโปรโมทอัลบั้มชุดนั้น กระแสตอบรับความนิยมก็เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะเพลง "มนต์รัก ตจว." ชึ่งกลายเป็นบทเพลงชิ้นเอกที่เป็นที่นิยมของคนฟังทั่วประเทศ และทำให้ แดง จิตกร ได้รับ "รางวัลมาลัยทอง" พ.ศ. 2546 ในสาขาเพลงลูกทุ่งยอดนิยมฝ่ายชาย และนักร้องชายยอดนิยม เมื่อปี พ.ศ. 2547[5] พ.ศ. 2547: อัลบั้ม ขอเป็นอะไหล่รัก และ คึดฮอดบ้านเฮาเนาะเดือนธันวาคม พ.ศ. 2546 แดงได้ออกอัลบั้มชุดที่ 12 ชื่อว่า ขอเป็นอะไหล่รัก ชึ่งเป็นอัลบั้มที่ต่อยอดความสำเร็จจากชุด "บอกอ้ายได้บ่" ในปี พ.ศ. 2545 มีผลงานเพลงที่ได้รับความนิยมและเป็นที่น่าสนใจ อาทิ "ขอเป็นอะไหล่รัก", "ผู้ยินยอม", "ผู้สาวบ้านใด๋" และ "อิสานสิ้นมนต์" จากนั้น ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2547 เขาได้ออกอัลบั้มชุดที่ 13 ชื่อว่า คึดฮอดบ้านเฮาเนาะ ซึ่มีผลงานเพลงที่ได้รับความนิยมและเป็นที่น่าสนใจเช่นเดียวกัน ได้แก่ เพลง "คึดฮอดบ้านเฮาเนาะ" เพลงเปิดตัวที่เขาร้องไว้เพื่อให้กำลังใจคนที่ต้องมาทำงานในที่ๆห่างไกล เพลงนี้กลายเป็นเพลงที่ติดอันดับต้นๆของชาร์ตเพลงในสถานีวิทยุทั่วประเทศอีกด้วย พ.ศ. 2548 - 2549: ยอดชายนายคำเม้า และ อัลบั้ม พี่แดงคนเดิมแดงได้ร่วมแสดงภาพยนตร์อีกครั้ง ในเรื่อง ยอดชายนายคำเม้า โดยเป็นภาพยนตร์ที่จำหน่ายในรูปแบบ วีซีดี ผลิตและจำหน่ายโดย ท็อปไลน์มิวสิค ในเดือน กรกฎาคม พ.ศ. 2548 ในภาพยนตร์เรื่องนี้ เขาได้รับบทเป็นพระเอกของเรื่องนี้ นอกจากนั้นยังมีศิลปินร่วมเล่นด้วย อาทิ ยิ่งยง ยอดบัวงาม, วิฑูรย์ ใจพรหม, บานเย็น รากแก่น, อ้อยใจ แดนอีสาน, น้องเบนซ์ จูเนียร์, สาวมาด เมกะแดนซ์, นพดล ดวงพร ฯลฯ[6] ในเดือนสิงหาคม ปีเดียวกัน เขาได้ออกอัลบั้มชุดที่ 14 ชื่อว่า พี่แดงคนเดิม ชึ่งนำเพลงชื่อเดียวกันที่เขาร้องไว้สมัยอยู่ค่ายเคซีเอส มาเผยแพร่อีกครั้งเป็นเพลงลำดับแรก ส่วนอีก 9 เพลงที่เหลือ เป็นผลงานเพลงแต่งใหม่ทั้งหมดและเป็นชุดแรกที่ สมบูรณ์ ปาราชิตัง เป็นผู้เรียบเรียงทำดนตรีให้ เช่น "อาชีพอกหัก", "ถามข่าวผู้สาวเก่า", "พ่ายรักที่ลำนางรอง" ฯลฯ พ.ศ. 2549-2550: อัลบั้มพิเศษ และ อัลบั้ม หัวใจ...สะแหมฮัก/สักวาหน้าหนาวเดือนเมษายน พ.ศ. 2549 แดงได้อออัลบั้มพิเศษ ที่รวมบทเพลงแนวหมอลำที่เขาร้องไว้ในช่วงเข้าสู่วงการใหม่ๆ มารวมไว้ในอัลบั้มชื่อว่า รวมฮิตเพลงหมอลำ อัลบั้มนี้แบ่งออกเป็น 2 ชุด มีบทเพลงที่แนะนำคือ "ฟ้าไกลดิน", "สาวอรใจร้าย", "ข่าวร้ายสายด่วน", "ดื่มให้ลืมเธอ" ฯลฯ เดือนมีนาคม พ.ศ. 2550 แดงได้ออกอัลบั้มชุดที่ 15 ของเขา ในชื่อ หัวใจ...สะแหมฮัก มีเพลงเปิดตัวชื่อ "สักวาหน้าหนาว" ผลงานการแต่งของ ศิริ มงคล ชึ่งเป็นบทเพลงที่นำบทกลอนสักวามาประยุกต์ใช้กับแนวเพลงลูกทุ่ง หลังจากเพลงนี้ได้เผยแพร่ในสื่อต่างๆ ก็ได้รับกระแสความนิยมเป็นอย่างมาก จึงทำให้ต้นสังกัด เปลี่ยนชื่ออัลบั้มจาก หัวใจ...สะแหมฮัก เป็น สักวาหน้าหนาว ในเวลาต่อมา นอกจากเพลงสักวาหน้าหนาวแล้ว ยังมีอีกหลายบทเพลงในอัลบั้มนี้ที่น่าสนใจ เช่น "หวานใจมือถือ", "คอยเธอที่คลื่นชุมชน", "หัวใจไก่เหงา", "ให้เว้าหยอกแหน่" ฯลฯ พ.ศ. 2551 - 2553: อัลบั้ม ห่วงเจ้า…สาวโรงงาน, งามข้ามปี และ สุขสันต์วันคิดฮอดจากกระแสการตอบรับจากชุด สักวาหน้าหนาว ทำให้ความแรงของเขายังไม่หยุดเพียงเท่านี้ ในปี พ.ศ. 2551 แดงได้ออกอัลบั้มชุด ห่วงเจ้า…สาวโรงงาน มาให้แฟนเพลงได้ฟังกัน อัลบั้มนี้ได้รับกระแสตอบรับจากผู้ฟังได้อย่างดี จากนั้นในปี พ.ศ. 2552 แดงออกอัลบั้มชุด งามข้ามปี มีเพลงชื่อเดียวกับชื่ออัลบั้ม ที่ได้ ศิริ มงคล ผู้แต่งเพลง สักวาหน้าหนาว จนโด่งดัง มาแต่งเพลงนี้อีกครั้ง จนกลายเป็นเพลงที่แฟนเพลงชื่นชอบและให้การต้อนรับอย่างดี ต่อมาในปี พ.ศ. 2553 แดงกลับมาอีกครั้งกับอัลบั้ม สุขสันต์วันคิดฮอด โดยอัลบั้มนี้ได้ครูสลา คุณวุฒิ มาร่วมงานอีกครั้ง โดยใช้นามแฝง "พิณ พานทอง" แต่งเพลงใหม่ทั้งอัลบั้ม อัลบั้มนี้เปิดตัวด้วยเพลง "บอกกับเขาว่า...ขี้เมาโทรมา" ชึ่งเป็นเพลงแนวอารมณ์อกหักผสมกับอารมณ์ความคิดถึง บทเพลงนี้ได้รับความนิยมจากแฟนเพลงเป็นอย่างมาก หลังจากการโปรโมทอัลบั้ม สุขสันต์วันคิดฮอด จนถึงปี 2554 แดง จิตกร ก็ยังไม่มีแผนที่จะทำอัลบั้มใหม่อีกเลย จนกระทั่ง ช่วงปี 2556 - 2557 แดง จิตกร ก็กำลังจะทำอัลบั้มชุดใหม่ พ.ศ. 2557: อัลบั้ม สาวส่าลืมสรภัญญ์วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 ทางต้นสังกัดได้ปล่อยผลงานเพลง "สาวส่าลืมสรภัญญ์" และ "สาว 3G" เผยแพร่ใน Youtube ของทางต้นสังกัด แสดงถึงการกลับมาทำผลงานเพลงชุดใหม่ของแดงในรอบ 4 ปี และในอีก 4 เดือนต่อมา แดงได้ออกอัลบั้มชุดที่ 19 ในชื่อ สาวส่าลืมสรภัญญ์ ในเดือน มิถุนายน และได้มีการปล่อยมิวสิควีดีโอลงในสื่อต่างๆ ในเดือนกรกฎาคม ปีเดียวกัน หลังจากการเสียชีวิตของเขาเมื่อปี พ.ศ 2559 ทำให้อัลบั้มชุดนี้ กลายเป็นอัลบั้มชุดสุดท้ายในชีวิตของเขา ภาพลักษณ์ และ ชีวิตส่วนตัวด้วยความที่แดง จิตกร เป็นนักร้องที่ได้รับกระแสตอบรับจากประชาชนและแฟนเพลงอย่างไม่หยุดนึ่ง จึงทำให้เขากลายเป็นศิลปินที่ได้รับฉายาจากสื่อต่างๆว่า "หนุ่มเทอร์โบมาแรง" ด้านนิสัยส่วนตัวของแดงส่วนมากมักจะใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไป และสิ่งที่ต่างจากคนทั่วไปคือการใช้ชีวิตที่แปลกและไม่เหมือนใคร[7] ด้านความสามารถพิเศษ แดงเป็นคนเขียนเพลงที่มีมุมมองน่าสนใจและชี้ให้เห็นว่าเป็นคนคุณภาพคนหนึ่งของวงการเพลง[8] ตัวอย่างเพลงที่แดงแต่ง เช่น "ร้องเพลงเพื่อยาย", "วันเกิดวันเจ็บ", "เสียงครวญจากไต้หวัน" เป็นต้น ด้านชีวิตครอบครัว แดง จิตกร มีภรรยาชื่อ อุไรวรรณ เกตุภูเขียว และมีบุตรด้วยกัน 3 คน คือ เกตุกนก เกตุภูเขียว, ฐิติมา เกตุภูเขียว และ ศุภกฤต เกตุภูเขียว[4] ก่อนหน้านั้น แดงได้พบรักกับ พัชรธิดา ทะชัยวงศ์ และใช้ชีวิตแบบครอบครัวด้วยกัน แต่แล้วความสัมพันธ์กลับกลายเป็นแค่การห่างกันเท่านั้นเอง[9] การเสียชีวิตเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2558 แดงต้องหยุดร้องเพลง เนื่องจากมีอาการคอขวาบวมเบ่ง[2] ทำให้แฟนเพลงสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น จากนั้นข่าวความเคลื่อนไหวของแดงก็เงียบไปสักระยะ จนในที่สุดทางต้นสังกัดได้แจ้งข่าวเอาไว้ว่า แดงป่วยเป็นมะเร็งที่บริเวณลำคอมาเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว เขาต้องพักอยู่ที่บ้านจังหวัดบุรีรัมย์ ควบคู่กับการเดินทางเข้ากรุงเทพฯ มารักษาตัวที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และรักษาตัวกับแพทย์แผนไทย จนอาการเริ่มดีขึ้นตามลำดับ[10] แต่แล้ว อาการป่วยของเขาเริ่มกำเริบขึ้นอีกครั้ง จนกระทั่งวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2559 สัญญาลักษณ์ ดอนศรี ครูเพลงชื่อดังได้โพสต์ภาพและข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เป็นภาพที่เขาป่วยเป็นโรคมะเร็งโพรงจมูกระยะสุดท้าย และวอนขอให้คนยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือแดง เนื่องจากในเวลานั้นเขาลำบากมาก เอาเงินร้องเพลงมารักษาโรคมะเร็งจนหมดตัว ไม่นานเท่าไหร่ ก็มียอดเงินบริจาคในบัญชีหลั่งไหลเข้ามามากถึง 3.5 ล้านบาท[2] และยังได้มีการจัดคอนเสิร์ตการกุศลเพื่อช่วยเหลือเขาในวันที่ 29 เมษายน ปีเดียวกัน แดงพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลในจังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2559 แล้วได้ขออนุญาตจากแพทย์ ให้ไปพักรักษาตัวที่บ้านของเขา ในวันที่ 30 เมษายน ปีเดียวกัน แต่ในเวลาต่อมา แดงได้เสียชีวิตลงเมื่อเวลา 21.00 น. ของวันเดียวกัน[11] ผลงานสตูดิโออัลบั้ม
อัลบั้มพิเศษ
อัลบั้มรวมเพลง
ผลงานเพลงร่วมกับศิลปินคนอื่น
รางวัล
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น |