สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช[3] หรือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 2 เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 18 แห่งอาณาจักรอยุธยา และพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 2 แห่งราชวงศ์สุโขทัย พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์แห่งอาณาจักรอยุธยาตั้งแต่ พ.ศ. 2133 และเป็นเจ้าเหนือแผ่นดินล้านนาตั้งแต่ พ.ศ. 2145 จนเสด็จสวรรคตใน พ.ศ. 2148 พระองค์มีชื่อเสียงจากเหตุการณ์ที่พระองค์ปลดปล่อยกรุงศรีอยุธยาจากการเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรตองอู ในรัชสมัยของพระองค์ได้ทำสงครามกับพม่าหลายครั้ง สมเด็จพระนเรศวรยังเจริญสัมพันธไมตรีกับฮอลันดาใน พ.ศ. 2142[4]: 242 พระราชประวัติขณะทรงพระเยาว์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช หรือ พระองค์ดำ เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชและพระวิสุทธิกษัตรีย์ (พระราชธิดาในสมเด็จพระมหาจักรพรรดิและพระสุริโยทัย) เสด็จพระราชสมภพเมื่อ พ.ศ. 2098 ที่พระราชวังจันทน์ เมืองพิษณุโลก พระองค์มีพระเชษฐภคินีคือพระสุพรรณกัลยา และพระอนุชาคือสมเด็จพระเอกาทศรถ (พระองค์ขาว)[4]: 67 ขณะที่ทรงพระเยาว์ พระองค์ทรงใช้ชีวิตอยู่ที่พระราชวังจันทน์ เมืองพิษณุโลก จนกระทั่งพระเจ้าบุเรงนองยกทัพมาตีเมืองพิษณุโลกในสงครามช้างเผือก สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช เจ้าเมืองพิษณุโลก ยอมอ่อนน้อมต่อหงสาวดี จึงทำให้พระเจ้าบุเรงนองได้เมืองพิษณุโลกกับอยุธยา และทำให้สยามตกเป็นประเทศราชของพม่า[5] เพื่อยืนยันความจงรักภักดีของกษัตริย์[4]: 36, 67 พระเจ้าบุเรงนองทรงขอพระสุพรรณกัลยาและพระนเรศวรไปเป็นองค์ประกันที่หงสาวดีใน พ.ศ. 2107 ทำให้พระองค์ต้องจากบ้านเกิดเมืองนอนตั้งแต่มีพระชนมายุเพียง 9 พรรษา ประทับอยู่กรุงหงสาวดี 8 ปี และเสด็จกลับกรุงศรีอยุธยาเมื่อพระชนมายุ 17 พรรษา พ.ศ. 2115 ครั้งที่อยู่ในเมืองหงสาวดีก็ได้แสดงความปรีชาสามารถให้ปรากฏหลายต่อหลายครั้ง[6] ปกครองเมืองพิษณุโลกหลังจากพระเจ้าบุเรงนองตีกรุงศรีอยุธยาแตกเมื่อ พ.ศ. 2112 มะเส็งศก วันอาทิตย์ เดือน 9 แรม 11 ค่ำ และได้สถาปนาสมเด็จพระมหาธรรมราชาครองกรุงศรีอยุธยาในฐานะประเทศราชของหงสาวดีแล้ว พระองค์ได้หนีกลับมายังกรุงศรีอยุธยาโดยที่พระเจ้าบุเรงนองทรงยินยอมอันเนื่องมาจากพระสุพรรณกัลยาทรงขอไว้ เมื่อเสด็จกลับมาถึงกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2115 สมเด็จพระมหาธรรมราชาพระราชทานนามให้พระองค์ว่า "พระนเรศวร" และโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระมหาอุปราช เมื่อมีพระชนมายุ 17 พรรษา ไปปกครองเมืองพิษณุโลก พระองค์ทรงปกครองเมืองอย่างดีและทรงเริ่มเตรียมการที่จะกอบกู้เอกราชของกรุงศรีอยุธยา[7] การที่ได้เสด็จไปประทับอยู่หงสาวดีถึง 8 ปีนั้น ก็เป็นประโยชน์ยิ่งเพราะทรงทราบทั้งภาษา นิสัยใจคอ ตลอดจนล่วงรู้ความสามารถของพม่า ซึ่งนับเป็นทุนสำหรับคิดอ่านเพื่อหาหนทางในการต่อสู้กับพม่า เมื่อหงสาวดีตีกรุงศรีอยุธยาได้นั้น อ้างว่าข้าราชการในกรุงศรีอยุธยาเกลียดชังสมเด็จพระมหาธรรมราชา จึงต้องถอนข้าราชการเมืองเหนือที่เคยใช้สอยลงมารับราชการในกรุงศรีอยุธยาเป็นจำนวนมาก ทำให้จำนวนข้าราชการทางเมืองเหนือบกพร่องจึงต้องหาตัวตั้งขึ้นใหม่[8] พระองค์ทรงขวนขวายหาคนสำหรับทรงใช้สอยโดยฝึกทหารที่อยู่ในรุ่นราวคราวเดียวกันตามวิธียุทธ์ของพระองค์ทั้งสิ้นและนับเป็นกำลังสำคัญของพระนเรศวรในเวลาต่อมา[9] การตีกรุงศรีอยุธยาของเขมรเมื่อปี พ.ศ. 2113 พระยาละแวกหรือสมเด็จพระบรมราชา กษัตริย์เขมร ซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยามาก่อนตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 เห็นกรุงศรีอยุธยาบอบซ้ำจากการทำสงครามกับพม่าจึงถือโอกาสยกกองทัพเข้ามาซ้ำเติมโดยมีกำลังพล 20,000 นาย เข้ามาทางเมืองนครนายก เมื่อมาถึงกรุงศรีอยุธยาได้ตั้งทัพอยู่ที่ตำบลบ้านกระทุ่มแล้วเคลื่อนพลเข้าประชิดพระนครและได้เข้ามายืนช้างบัญชาการรบอยู่ในวัดสามพิหาร รวมทั้งวางกำลังพลรายเรียงเข้ามาถึงวัดโรงฆ้องต่อไปถึงวัดกุฎีทอง และนำกำลังพล 5,000 นาย ช้าง 30 เชือก เข้ายึดแนวหน้าวัดพระเมรุราชิการามพร้อมกับให้ทหารลงเรือ 50 ลำแล่นเข้ามาปล้นพระนครตรงมุมเจ้าสนุก[10] ในครั้งนั้นสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเสด็จออกบัญชาการการรบป้องกันพระนครเป็นสามารถ กองทัพเขมรพยายามยกพลเข้าปล้นพระนครอยู่ 3 วัน แต่ไม่สำเร็จจึงยกกองทัพกลับไปและได้กวาดต้อนผู้คนชาวบ้านนาและนครนายกไปยังประเทศเขมรเป็นจำนวนมาก[9] ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2117 ในขณะที่กองทัพกรุงศรีอยุธยาภายใต้การบังคับบัญชาของสมเด็จพระธรรมราชาธิราชและพระนเรศวรได้ยกกองทัพไปช่วยหงสาวดีเพื่อตีเมืองศรีสัตนาคนหุต พระยาละแวกได้ถือโอกาสยกกองทัพมาทางเรือเข้าตีกรุงศรีอยุธยาอีกครั้งหนึ่ง แต่การศึกครั้งนี้โชคดีเป็นของกรุงศรีอยุธยา กล่าวคือขณะที่กองทัพกรุงศรีอยุธยายกไปถึงหนองบัวลำภู เมืองอุดรธานี พระนเรศวรประชวรเป็นไข้ทรพิษ ดังนั้นพระเจ้าบุเรงนองจึงโปรดให้กองทัพกรุงศรีอยุธยายกทัพกลับไป[10] โดยกองทัพกรุงศรีอยุธยากลับมาได้ทันเวลาที่กรุงศรีอยุธยาถูกโจมตีจากกองทัพเรือเขมร ซึ่งขึ้นมาถึงกรุงศรีอยุธยาเมื่อเดือนอ้าย พ.ศ. 2118 โดยได้ตั้งทัพชุมนุมพลอยู่ที่ตำบลขนอนบางตะนาวและลอบแฝงเข้ามาอยู่ในวัดพนัญเชิง รวมทั้งใช้เรือ 3 ลำเข้าปล้นชาวเมืองที่ตำบลนายก่าย[10] ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาได้ใช้ปืนใหญ่ยิงไปยังป้อมค่ายนายก่ายถูกข้าศึกล้มตายเป็นอันมาก แล้วให้ทหารเรือเอาเรือไปท้าทายให้ข้าศึกออกมารบพุ่ง จากนั้นก็หลอกล่อให้ข้าศึกรุกไล่เข้ามาในพื้นที่การยิงหวังผลของปืนใหญ่ เมื่อพร้อมแล้วก็ระดมยิงปืนใหญ่ถูกทหารเขมรแตกพ่ายกลับไป[9] รบกับเขมรที่ไชยบาดาลในปี พ.ศ. 2121 พระยาจีนจันตุ ขุนนางจีนของกัมพูชา รับอาสาพระสัฎฐามาปล้นเมืองเพชรบุรี แต่ต้องพ่ายแพ้ตีเข้าเมืองไม่ได้จะกลับกัมพูชาก็เกรงว่าจะต้องถูกลงโทษ จึงพาสมัครพรรค พวกมาสวามิภักดิ์อยู่กับคนไทย โดยสมเด็จพระมหาธรรมราชาทรงชุบเลี้ยงไว้ ต่อมาไม่นานก็ลงเรือสำเภาหนีออกไป เวลานั้นสมเด็จพระนเรศวรมหาราชมีพระชนมายุได้ 24 พรรษา ตระหนักในพระทัยดีว่า พระยาจีนจันตุเป็นผู้สืบข่าวไปให้เขมร พระองค์จึงเสด็จลงเรือกราบกันยารับตามไป เสด็จไปด้วยอีกลำหนึ่งตามไปทันกันเมื่อใกล้จะออกปากน้ำ พระยาจีนจันตุยิงปีนต่อสู้ สมเด็จพระนเรศวรจึงเร่งเรือพระที่นั่งขึ้นหน้าเรือลำอื่นประทับยืนทรงยิงพระแสงปืนนกสับที่หน้ากันยาไล่กระชั้นชิดเข้าไปจนข้าศึกยิงมา ถูกรางพระแสงปืนแตกอยู่กับพระหัตถ์ก็ไม่ยอมหลบ พระเอกาทศรถเกรงจะเป็นอันตราย จึงตรัสสั่งให้เรือที่ทรงเข้าไปบังเรือสมเด็จพระเชษฐาก็พอดีกับเรือที่ทรงเข้าไป บังเรือสมเด็จพระเชษฐาก็พอดีกับเรือสำเภาของพระยาจีนจันตุได้ลมแล่นออกทะเลไป เนื่องจากเรือรบไทยเป็นเรือเล็กสู้คลื่นลมไม่ไหวจำต้องถอยขบวนกลับขึ้นมาตามลำน้ำพบกับสมเด็จพระมหาธรรมราชาที่คุมกำลังทหารลงเรือหนุนตามมาที่เมืองพระประแดง ทรงกราบทูลเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ทรงทราบ แล้วเคลื่อนขบวนกลับสู่พระนคร[11][12] พระปรีชาสามารถในการรบเป็นที่ประจักษ์หลายครั้งหลายคราว ครั้นยิ่งนานวันความกล้าแกร่งของพระนเรศวรยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ความสามารถในการเป็นผู้นำปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน จนกระทั่งได้รับความนับถือยกย่องโดยทั่วไป[13] แต่การทำสงครามกับเขมรก็ยังไม่จบสิ้น ทั้งนี้เพราะเขมรยังคงเชื่อว่าสยามยังอ่อนแอสามารถที่จะเข้ามาปล้นชิงได้อยู่ พ.ศ. 2123 กษัตริย์กัมพูชาได้โปรดให้พระทศราชาและพระสุรินทร์ราชาคุมกำลังประมาณ 5,000 ประกอบไปด้วยช้าง ม้า ลาดตระเวนเข้ามาในหัวเมืองด้านตะวันออก แล้วเคลื่อนต่อเข้ามายังเมืองสระบุรีและเมืองอื่น ๆ หมายจะปล้นทรัพย์จับผู้คนไปเป็นเชลย[12] ประจวบเหมาะกับพระนเรศวรเสด็จลงมาประทับอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาพอดี เมื่อทรงทราบข่าวศึกก็ทรงทูลขอกำลังทหารประจำพระนคร 3,000 คน ทั้งที่มีกำลังพลน้อยกว่าเขมรแต่สมเด็จพระนเรศวรก็สามารถวางกลศึกหลอกล่อ กระทั่งสามารถโจมตีทัพของเขมรให้แตกหนีกลับไปได้ในที่สุด[12] ฝ่ายพระทศโยธา และพระสุรินทราชาเห็นทัพหน้าแตกยับเยิน ไม่ทราบแน่ว่ากองทัพไทยมีกำลังมากน้อยเพียงใด ก็รีบถอยหนีกลับไปทางนครราชสีมา ก็ได้ถูกทัพไทยที่ดักทางคอยอยู่ก่อนแล้ว เข้าโจมตีซ้ำเติมอีก กองทัพเขมรทั้งหมดจึงรีบถอยหนีกลับไป การรบครั้งนี้ทำให้สมเด็จพระนเรศวรเป็นที่เคารพยำเกรงแก่บรรดาแม่ทัพนายกอง และบรรดาทหารทั้งปวงเป็นที่ยิ่ง กิตติศัพท์อันนี้เป็นที่เลื่องลือไปถึงกรุงหงสาวดี และผลจากการรบครั้งนี้ทำให้เขมรไม่กล้าลอบมาโจมตีไทยถึงพระนครอีกเลย[13] การรบที่เมืองรุมเมืองคังเมื่อพระเจ้าบุเรงนองแห่งหงสาวดีเสด็จสวรรคต ทางหงสาวดีจึงมีการผลัดเปลี่ยนแผ่นดินใหม่ โดยนันทบุเรงได้ขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อจากพระเจ้าบุเรงนอง พระนเรศวรในขณะนั้นก็ได้คุมทัพและเครื่องราชบรรณาการไปถวายแก่หงสาวดีตามราชประเพณีที่มีมา คือเมื่อหงสาวดีมีการผลัดเปลี่ยนกษัตริย์ ประเทศราชจะต้องปฏิบัติเช่นนี้[14] ทางด้านเจ้าฟ้าเมืองคัง ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของหงสาวดีแข็งเมือง ไม่ยอมส่งราชบรรณาการไปถวายพระเจ้านันทบุเรง ดังนั้นทางหงสาวดีจึงจัดกองทัพขึ้น 3 กอง มีพระมหาอุปราชราชโอรสของพระเจ้านันทบุเรง พระสังขฑัตโอรสเจ้าเมืองตองอู ส่วนทัพที่ 3 คือกองทัพของพระนเรศวร แห่งกรุงศรีอยุธยาให้ยกไปปราบปรามเมืองคัง กองทัพของพระมหาอุปราชบุกเข้าโจมตีเมืองคังก่อน แต่ปรากฏว่าตีไม่สำเร็จ ต่อมาจึงเป็นหน้าที่ของกองทัพพระสังขฑัต แต่การโจมตีก็ต้องผิดหวังล่าถอยกลับมาอีกเช่นกัน ดังนั้นจึงเป็นคราวที่พระนเรศวรจะเข้าโจมตีเมืองคังบ้าง[15] พระนเรศวรทรงพิจารณาเห็นว่าเมืองคังตั้งอยู่บนที่สูง พระองค์จึงวางแผนการยุทธจัดทัพใหม่ แบ่งกำลังส่วนหนึ่งเข้าโจมตีด้านหน้า กำลังส่วนนี้มีไม่มากนัก แต่กำลังส่วนใหญ่ของพระองค์เปลี่ยนทิศทางโอบเข้าตีด้านหลัง ประกอบกับพระองค์ทรงรู้ทางลับที่จะบุกเข้าสู่เมืองคังอีกด้วย จึงสามารถโจมตีเมืองคังแตกโดยไม่ยาก พระนเรศวรจับเจ้าฟ้าเมืองคังไปถวายพระเจ้านันทบุเรงที่หงสาวดีเป็นผลสำเร็จ[16] ชัยชนะในการตีเมืองคังครั้งนั้นทำให้ฝ่ายพม่าเริ่มรู้ว่าฝีมือทัพอยุธยา มีความเก่งกล้าสามารถน่าเกรงขามยิ่งกว่าแต่ก่อน โดยเฉพาะพระสังขฑัต และพระมหาอุปราชารู้สึกมีความละอายมากในการทำศึกครั้งนี้ นอกจากนี้แล้วต่อมาพวกเขมรยกทัพมากวาดต้อนผู้คนในเมืองนครราชสีมาและหัวเมืองชั้นใน ก็ถูกกองทัพของพระนเรศวรโจมตีแตกกระเจิงและเลิกทัพถอยกลับไป[17] ความเก่งกล้าสามารถของพระนเรศวรมีมากขึ้นเพียงไร ความหวาดระแวงของพระเจ้านันทบุเรงก็เพิ่มมากขึ้น พระเจ้านันทบุเรงเริ่มไม่ไว้วางพระทัยพระนเรศวร คอยจับจ้องดูความเปลี่ยนแปลงและความสามารถของพระองค์อยู่ตลอดเวลา คิดว่าหากมีโอกาสเมื่อใดก็จะกำจัดตัดไฟแต่ต้นลม[17][18] ประกาศอิสรภาพเมื่อปี พ.ศ. 2126 พระเจ้าอังวะก่อกบฏ เนื่องจากไม่พอใจทางกรุงหงสาวดีอยู่หลายประการ จึงแข็งเมืองพร้อมกับเกลี้ยกล่อมเจ้าไทยใหญ่อีกหลายเมืองให้แข็งเมืองด้วย พระเจ้านันทบุเรงจึงยกทัพหลวงไปปราบ ในการณ์นี้ได้สั่งให้เจ้าเมืองแปรเจ้าเมืองตองอูและเจ้าเมืองเชียงใหม่ รวมทั้งทางกรุงศรีอยุธยาด้วย ให้ยกทัพไปช่วยทางไทย สมเด็จพระมหาธรรมราชาโปรดให้สมเด็จพระนเรศวรยกทัพไปแทน[19] สมเด็จพระนเรศวรยกทัพออกจากเมืองพิษณุโลก เมื่อวันแรม 6 ค่ำ เดือน 3 ปีมะแม พ.ศ. 2126 พระองค์ยกทัพไทยไปช้า ๆ เพื่อให้การปราบปรามเจ้าอังวะเสร็จสิ้นไปก่อน ทำให้พระเจ้านันทบุเรงแคลงใจว่า ทางไทยคงจะถูกพระเจ้าอังวะชักชวนให้เข้าด้วย จึงสั่งให้พระมหาอุปราชาคุมทัพรักษากรุงหงสาวดีไว้ถ้าทัพไทยยกมาถึงก็ให้ต้อนรับและหาทางกำจัดเสีย และพระองค์ได้สั่งให้พระยามอญสองคน คือ พระยาเกียรติและพระยาราม ซึ่งมีสมัครพรรคพวกอยู่ที่เมืองแครงมาก[19] และทำนองจะเป็นผู้คุ้นเคยกับสมเด็จพระนเรศวรมาแต่ก่อน ลงมาคอยต้อนรับทัพไทยที่เมืองแครง อันเป็นชายแดนติดต่อกับไทย พระมหาอุปราชาได้ตรัสสั่งเป็นความลับว่า เมื่อสมเด็จพระนเรศวรยกกองทัพขึ้นไป ถ้าพระมหาอุปราชายกเข้าตีด้านหน้าเมื่อใด ให้พระยาเกียรติและพระยารามคุมกำลังเข้าตีกระหนาบทางด้านหลัง ช่วยกันกำจัดสมเด็จพระนเรศวรเสียให้จงได้ พระยาเกียรติกับพระยารามเมื่อไปถึงเมืองแครงแล้วได้ขยายความลับนี้แก่พระมหาเถรคันฉองผู้เป็นอาจารย์ของตน ทุกคนไม่มีใครเห็นดีด้วยกับแผนการของพระเจ้านันทบุเรง[20] กองทัพไทยยกมาถึงเมืองแครง เมื่อวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 6 ปีวอก พ.ศ. 2127 โดยใช้เวลาเดินทัพเกือบสองเดือน กองทัพไทยตั้งทัพอยู่นอกเมือง เจ้าเมืองแครงพร้อมทั้งพระยาเกียรติกับพระยารามได้มาเฝ้าฯ สมเด็จพระนเรศวร จากนั้นสมเด็จพระนเรศวรได้เสด็จไปเยี่ยมพระมหาเถรคันฉองซึ่งคุ้นเคยกันดีมาก่อน พระมหาเถรคันฉองมีใจจึงกราบทูลถึงเรื่องการคิดร้ายของทางพระเจ้านันทบุเรง แล้วให้พระยาเกียรติกับพระยารามกราบทูลให้ทราบตามความเป็นจริง เมื่อพระองค์ได้ทราบความโดยตลอดแล้ว ก็มีพระราชดำริเห็นว่าการเป็นอริราชศัตรูกับกรุงหงสาวดีนั้น ถึงกาลเวลาที่จะต้องเปิดเผยต่อไปแล้ว จึงได้มีรับสั่งให้เรียกประชุมแม่ทัพนายกอง กรมการเมือง เจ้าเมืองแครงรวมทั้งพระยาเกียรติพระยารามและทหารมอญมาประชุมพร้อมกัน แล้วนิมนต์พระมหาเถรคันฉองและพระสงฆ์มาเป็นสักขีพยาน ทรงแจ้งเรื่องให้คนทั้งปวงที่มาชุมนุม ณ ที่นั้นทราบว่า พระเจ้านันทบุเรงดีคิดประทุษร้ายต่อพระองค์ จากนั้นพระองค์ได้ทรงหลั่งน้ำลงสู่แผ่นดินด้วยสุวรรณภิงคาร (พระน้ำเต้าทองคำ) ประกาศแก่เทพยดาฟ้าดินว่า "ด้วยพระเจ้าหงสาวดี มิได้อยู่ในครองสุจริตมิตรภาพขัตติยราชประเพณี เสียสามัคคีรสธรรม ประพฤติพาลทุจริต คิดจะทำอันตรายแก่เรา ตั้งแต่นี้ไป กรุงศรีอยุธยาขาดไมตรีกับกรุงหงสาวดีมิได้เป็นมิตรร่วมสุวรรณปฐพีเดียวกันดุจดังแต่ก่อนสืบไป"[20] จากนั้นพระองค์ได้ตรัสถามชาวเมืองแครงว่าจะเข้าข้างฝ่ายใด พวกมอญทั้งปวงต่างเข้ากับฝ่ายไทย สมเด็จพระนเรศวรจึงให้จับเจ้าเมืองกรมการพม่าแล้วเอาเมืองแครงเป็นที่ตั้งประชุมทัพ เมื่อจัดกองทัพเสร็จก็ทรงยกทัพจากเมืองแครงไปยังเมืองหงสาวดีเมื่อวันแรม 3 ค่ำ เดือน 6[20] ฝ่ายพระมหาอุปราชาที่อยู่รักษาเมืองหงสาวดี เมื่อทราบว่าพระยาเกียรติพระยารามไปเข้ากับสมเด็จพระนเรศวร จึงได้แต่รักษาพระนครมั่นอยู่ สมเด็จพระนเรศวรเสด็จยกทัพข้ามแม่น้ำสะโตงไปใกล้ถึงเมืองหงสาวดี ได้ทราบความว่า พระเจ้านันทบุเรงมีชัยชนะได้เมืองอังวะแล้ว กำลังจะยกทัพกลับคืนพระนคร พระองค์เห็นว่าสถานการณ์ครั้งนี้ไม่สมคะเน เห็นว่าจะตีเอาเมืองหงสาวดีในครั้งนี้ยังไม่ได้ จึงให้กองทัพแยกย้ายกันเที่ยวบอกพวกครัวไทยที่พม่ากวาดต้อนไปแต่ก่อนให้อพยพกลับบ้านเมือง ได้ผู้คนมาประมาณหมื่นเศษให้ยกล่วงหน้าไปก่อน พระองค์ทรงคุมกองทัพยกตามมาข้างหลัง[21] พระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตงฝ่ายพระมหาอุปราชาทราบข่าวว่า สมเด็จพระนเรศวรกวาดต้อนคนไทยกลับจึงได้ให้สุรกรรมาเป็นกองหน้า พระมหาอุปราชาเป็นกองหลวงยกติดตามกองทัพไทยมา กองหน้าของพม่าตามมาทันที่ริมฝั่งแม่น้ำสะโตง ในขณะที่ฝ่ายไทยได้ข้ามแม่น้ำไปแล้ว และคอยป้องกันมิให้ข้าศึกข้ามตามมาได้ ได้มีการต่อสู้กันที่ริมฝั่งแม่น้ำ สมเด็จพระนเรศวรทรงใช้พระแสงปืนคาบชุดยาวเก้าคืบ ยิงถูกสุรกรรมาแม่ทัพหน้าพม่าตายบนคอช้าง กองทัพของพม่าเห็นแม่ทัพตาย ก็พากันเลิกทัพกลับไป เมื่อพระมหาอุปราชาแม่ทัพหลวงทรงทราบ จึงให้เลิกทัพกลับไปกรุงหงสาวดี พระแสงปืนที่ใช้ยิงสุรกรรมาตายบนคอช้างนี้ได้นามปรากฏต่อมาว่า "พระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง" นับเป็นพระแสงอัษฎาวุธ อันเป็นเครื่องราชูปโภค[21] เมื่อสมเด็จพระนเรศวรเสด็จกลับถึงเมืองแครง ทรงพระราชดำริว่าพระมหาเถรคันฉองกับพระยาเกียรติพระยารามได้มีอุปการะมาก สมควรได้รับการตอบแทนให้สมแก่ความชอบ จึงทรงชักชวนให้มาอยู่ในกรุงศรีอยุธยา พระมหาเถรคันฉองกับพระยามอญทั้งสองก็มีความยินดีพาพรรคพวกเสด็จเข้ามาด้วยเป็นอันมาก ในการยกกำลังกลับครั้งนี้สมเด็จพระนเรศวรทรงเกรงว่า ข้าศึกอาจยกทัพตามมาอีกถ้าเสด็จกลับทางด่านแม่ละเมา มีกองทัพของนันทสูราชสังครำตั้งอยู่ที่เมืองกำแพงเพชรจะเป็นอุปสรรคต่อการเดินทาง พระองค์จึงรีบสั่งให้พระยาเกียรติ พระยาราม นำทัพเดินผ่านหัวเมืองมอญลงมาทางใต้ มาเข้าทางด่านเจดีย์สามองค์ เมื่อกลับมาถึงกรุงศรีอยุธยาแล้ว สมเด็จพระมหาธรรมราชาก็พระราชทานบำเหน็จรางวัลแก่พวกมอญที่สวามิภักดิ์ ทรงตั้งพระมาหาเถรคันฉองเป็นพระสังฆราชาที่สมเด็จอริยวงศ์ และให้พระยาเกียรติ พระยารามมีตำแหน่งยศได้พระราชทานพานทองควบคุมมอญที่เข้ามาด้วย ให้ตั้งบ้านเรือนที่ริมวัดขมิ้นและวัดขุนแสนใกล้วังจันทร์ของสมเด็จพระนเรศวร แล้วทรงมอบการทั้งปวงที่จะตระเตรียมต่อสู้ข้าศึกให้สมเด็จพระนเรศวรทรงบังคับบัญชาสิทธิขาดแต่นั้นมา[22] รบกับพระยาพะสิมปี พ.ศ. 2127 หลังจากที่สมเด็จพระนเรศวรทรงประกาศอิสรภาพได้ 7 เดือน พระเจ้านันทบุเรงจึงจัดทัพสองทัพให้ยกมาตีไทย ทัพแรกมีพระยาพะสิม (เป็นพระเจ้าอาของพระเจ้านันทบุเรง) คุมกำลัง 30,000 โดยยกมาทางด่านเจดีย์สามองค์ ทัพที่สองมีเจ้าเมืองเชียงใหม่ชื่อมังนรธาช่อราชอนุชา ยกทัพบกและเรือมา จากเชียงใหม่มีกำลังพล 100,000 กองทัพพระยาพสิมยกเข้ามาถึงเมืองกาญจนบุรี (ถึงก่อนทัพเจ้าเมืองเชียงใหม่) สมเด็จพระนเรศวรทรงให้พระยาจักรียกทัพเรือไปยิงปืนใหญ่ดักข้าศึกแถว ๆ เมืองสุพรรณบุรี ทัพพม่าถูกปืนใหญ่แตกพ่ายหนีไปอยู่บนเขาพระยาแมน เจ้าพระยาสุโขทัยยกทัพไปเขาพระยาแมน เข้าตีทัพพระยาพสิมแตกพ่ายหนีกระเจิง เจ้าพระยาสุโขทัยจึงสั่งให้ตามบดขยี้ข้าศึกจนถึงชายแดนเมืองกาญจนบุรี หลังจากทัพพระยาพสิมแตกพ่ายหนีกลับไปได้สองอาทิตย์ กองทัพพระยาเชียงใหม่ได้เดินทัพมาถึงชัยนาท โดยที่ไม่ทราบข่าวการพ่ายแพ้ของพระยาพสิมจึงส่ง แม่ทัพและทหารจำนวนหนึ่งมาตั้งค่ายที่ปากน้ำบางพุทรา ทางสมเด็จพระนเศวรมีรับสั่งให้พระราชมนูยกทัพไปตีข้าศึกที่ปากน้ำบางพุทรา เมื่อไปถึงพระราชมนูเห็นว่ากำลังน้อยกว่ามาก (พม่ามีอยู่ 15,000 ไทยมี 3,200 คน) จึงแต่งกองโจรคอยดักฆ่าพม่าจนเสียขวัญถอยกลับไปชัยนาท สุดท้ายทัพพม่าจึงถอยกลับไป[23] รบกับพระเจ้าเชียงใหม่ที่บ้านสระเกศพ.ศ. 2128 พระเจ้าเชียงใหม่ยกกองทัพมาแก้แค้นตั้งอยู่ที่บ้านสระเกษในแขวงเมืองวิเศษชัยชาญ สมเด็จพระนเรศวรกับพระเอกาทศรถยกทัพไปถึงตำบลป่าโมก ก็พบกับกองทัพพม่าซึ่งลงมาเที่ยวรังแกราษฎรทางเมืองวิเศษชัยชาญ จึงได้เข้าโจมตีจนทัพพม่าล่าถอยไป พระเจ้าเชียงใหม่จึงจัดกองทัพยกลงมาอีก สมเด็จพระนเรศวรจึงดำรัสสั่งให้พระราชมนูคุมกองทัพขึ้นไปลาดตระเวนดูก่อน กองทัพพระราชมนูไปปะทะกับพม่าที่บ้านบางแก้ว สมเด็จพระนเรศวรเสด็จขึ้นไปถึงบ้านแห จึงมีดำรัสให้ข้าหลวงขึ้นไปสั่งพระราชมนูให้ทำเป็นล่าทัพกลับถอยลงมา แล้วพระองค์กับพระอนุชาก็รุกไล่ตีทัพพม่าแตกพ่ายทั้งทัพหน้าและทัพหลวงจนถึงค่ายที่ตั้งทัพของพระเจ้าเชียงใหม่ที่บ้านสระเกษ ทัพของพระเจ้าเชียงใหม่จึงแตกกระจัดกระจายไป[24][25] เมื่อได้ค่ายที่บ้านสระเกศแล้วสมเด็จพระนเรศวรทรงติดตามพระเจ้าเชียงใหม่ขึ้นไปถึงนครสวรรค์ ทรงทราบข่าวว่าพระเจ้าเชียงใหม่นี้หนีไปอาศัยอยู่กับพระมหาอุปราชาที่เมืองกำแพงเพชรแล้ว หากติดตามไปอาจเสียทีพระมหาอุปราชาได้ จึงได้วางกำลังส่วนหนึ่งเป็นหน่วยลาดตระเวนเอาไว้ที่เมืองนครสวรรค์ แล้วยกทัพลงไปสมทบที่ปากน้ำบางพุทธา และถวายรายงานพร้อมคาดการณ์ว่าข้าศึกไม่น่าจะยกพลมาถึงกรุงศรีอยุธยาก่อนฤดูแล้ง ต่อมาสมเด็จพระมหาธรรมราชามีรับสั่งให้เลิกกองทัพเสด็จกลับพระนคร[25] พระแสงดาบคาบค่ายปีพ.ศ. 2129 พระเจ้านันทบุเรงประชุมกองทัพจำนวน 250,000 คนยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา ในช่วงต้นเดือนยี่ข้าวในนายังเกี่ยวไม่เสร็จ สมเด็จพระนเรศวรจึงรับสั่งให้เจ้าพระยากำแพงเพชรยกทัพออกไปป้องกันชาวนาที่กำลังเกี่ยวข้าว พอทัพพม่าของพระมหาอุปราชยกทัพมาถึงก็ให้ทัพม่าเข้าตีจนทัพเจ้าพระยากำแพงเพชรแตกพ่ายหนีเข้าเมือง สมเด็จพระนเรศวรทรงพิโรธอย่างมาก เพราะไทยไม่เคยแตกพ่ายแพ้ต่อข้าศึกอาจทำให้ทหารขวัญเสีย พระองค์และสมเด็จเอกาทศรถเสด็จลงเรือพระที่นั่งออกไปรบทันที[26] (สมเด็จพระเอกาทศรถทรงถูกกระสุนปืนแต่ไม่เป็นอะไร เพียงแค่ฉลองพระองค์ขาดเท่านั้น) ผลปรากฏว่าทรงยึดค่ายคืนมาได้ สมเด็จพระนเรศวรมีรับสั่งประหารชีวิตเจ้าพระยากำแพงเพชร แต่โชคดีที่พระบิดาสมเด็จพระมหาธรรมราชาทรงขอชีวิตเอาไว้[27] การศึกครั้งนี้พม่าหมายมั่นจะตีกรุงศรีอยุธยาให้ได้ แต่ด้วยความแข็งแกร่งของทหารไทยจึงรักษาที่มั่นเอาไว้ได้เสมอ เสด็จออกปล้นค่ายพม่าซึ่งเป็นทัพหน้าของหงสาวดี ข้าศึกแตกพ่ายถอยหนี พระองค์จึงไล่ตีมาจนถึงค่ายหลวงของพระเจ้านันทบุเรง เสด็จลงจากม้าคาบพระแสงดาบแล้วนำทหารปีนบันไดขึ้นกำแพงข้าศึก แต่ถูกพม่าใช้หอกแทงตกลงมาข้างล่างหลายครั้งจึงเสด็จกลับพระนคร พระแสงดาบนี้มีนามว่า พระแสงดาบคาบค่าย[28] ในพงศาวดารกล่าวว่า พระเจ้านันทบุเรงทรงทราบการกระทำอันห้าวหาญของสมเด็จพระนเรศวรจึงตรัสว่า ถ้าพระนเรศวรออกมาอีกจะต้องจับพระองค์ ให้ได้ถึงแม้ว่าจะใช้ทหารมากมายเพียงใด จึงวางแผนให้ลักไวทำมูนำทหารจำนวน 10,000 ไปดักจับ สมเด็จพระนเรศวรทรงออกไปปล้นค่ายหลวงพม่าอีก พม่าจึงใช้ทหารจำนวนน้อยเข้าล่อให้พระองค์ไล่ตี เข้ามาจนถึงบริเวณที่ลักไวทำมูซุ่มรออยู่ ลักไวทำมูจะเข้ามาจับพระองค์ สมเด็จพระนเรศวรจึงใช้พระแสงทวนแทงลักไวทำมูตายทันที แต่พระองค์ยังถูกล้อมอยู่และสู้กับทหารพม่า จำนวนมากนานร่วมชั่วโมง จนทัพไทยตามมาทันจึงเสด็จกลับพระนครได้ สุดท้ายกองทัพหงสาวดีบอบช้ำจากการสู้รบกับไทยอย่างมากจึงถอยทัพกลับไปเช่นเดิม[29] เสด็จขึ้นครองราชย์นับตั้งแต่สมเด็จพระนเรศวรประกาศอิสรภาพเป็นต้นมา หงสาวดีได้เพียรส่งกองทัพเข้ามาหลายครั้ง แต่ก็ถูกกองทัพกรุงศรีอยุธยาตีแตกพ่ายไปทุกครั้ง เมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชาเสด็จสวรรคตเมื่อปี พ.ศ. 2133 พระองค์ได้เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันอาทิตย์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2133 เมื่อพระชนมายุได้ 35 พรรษา ทรงพระนามว่า สมเด็จพระนเรศวร หรือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 2 และโปรดเกล้าฯ ให้พระเอกาทศรถ พระอนุชา ขึ้นเป็นพระมหาอุปราช แต่มีศักดิ์เสมอพระมหากษัตริย์อีกพระองค์[30] พระราชกรณียกิจพระมหาอุปราชายกทัพมาครั้งแรกสมเด็จพระนเรศวรเสวยราชย์ได้ 8 เดือนก็เกิดข้าศึกพม่าอีก เหตุที่จะเกิดศึกครั้งนี้คือเจ้าฟ้าไทยใหญ่เมืองคังตั้งแข็งเมืองขึ้นอีก พระเจ้านันทบุเรงตรัสปรึกษาเสนาบดี เห็นกันว่าเป็นเพราะเหตุที่เจ้าเมืองคังได้ทราบว่าปราบกรุงศรีอยุธยาไม่สำเร็จ จึงตั้งแข็งเมืองเอาอย่างบ้างตราบใดที่ยังไม่ปราบกรุงศรีอยุธยาลงได้[31] ถึงแม้จะปราบเมืองคังได้ เมืองอื่นก็คงแข้งข้อเอาอย่าง แต่ในเวลานั้นพระเจ้านันทบุเรงทรงอยู่ในวัยชราทุพพลภาพ ไม่ทรงสามารถจะไปทำสงครามเอาได้ดังแต่ก่อน จึงจัดกองทัพขึ้นสองทัพ ให้ราชบุตรองค์หนึ่งซึ่งได้เป็นพระเจ้าแปรขึ้นใหม่ยกไปตีเมืองคัง ทัพหนึ่งให้พระยาพะสิม พระยาพุกามเป็นกองหน้า พระมหาอุปราชาเป็นกองหลวงยกลงมาตีกรุงศรีอยุธยาอีกทัพหนึ่ง พระมหาอุปราชายกออกจากกรุงหงสาวดีเมื่อเดือน 12 พ.ศ. 2133 มาเข้าทางด่านพระเจดีย์สามองค์ เพื่อตรงมาตีพระนครศรีอยุธยาทีเดียว[32] ฝ่ายทางกรุงศรีอยุธยาครั้งนี้ รู้ตัวช้าจึงเกิดความลำบาก ไม่มีเวลาจะต้อนผู้คนเข้าพระนครดังคราวก่อน ๆ สมเด็จพระนเรศวรทรงเห็นว่าจะคอยต่อสู้อยู่ในกรุงอาจไม่เป็นผลดีเหมือนหนหลัง จึงรีบเสด็จยกกองทัพหลวงออกไปกับสมเด็จพระเอกาทศรถ ในเดือนยี่ เมือเสด็จไปถึงเมืองสุพรรณบุรีได้ทรงทราบว่าข้าศึกยกล่วงเมืองกาญจนบุรีเข้ามาแล้ว จึงให้ตั้งทัพหลวงรับข้าศึกอยู่ที่ลำน้ำท่าคอย พอกองทัพพม่ายกมาถึงก็รบกันอย่างตะลุมบอน พระยาพุกามแม่ทัพพม่าคนหนึ่งตายในที่รบ กองทัพพม่าถูกไทยฆ่าฟันล้มตายเป็นอันมาก ที่เหลือก็พากันพ่ายหนี ไทยไล่ติดตามไปจับพระยาพะสิมได้ที่บ้านจระเข้สามพันอีกคนหนึ่ง พระมหาอุปราชาเองก็หนีไปได้อย่างหวุดหวิด เมื่อกลับไปถึงหงสาวดีพวก แม่ทัพนายกองก็ถูกลงอาญาไปตาม ๆ กัน พระมหาอุปราชาก็ถูกภาคทัณฑ์ให้แก้ตัวในภายหน้า[33] สงครามยุทธหัตถีในปี พ.ศ. 2135 พระเจ้านันทบุเรงโปรดให้พระมหาอุปราชา นำกองทัพทหารสองแสนสี่หมื่นคน มาตีกรุงศรีอยุธยาหมายจะชนะศึกในครั้งนี้ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงทราบว่าพม่าจะยกทัพใหญ่มาตี จึงทรงเตรียมไพร่พล มีกำลังหนึ่งแสนคนเดินทางออกจากบ้านป่าโมกไปสุพรรณบุรี ข้ามน้ำตรงท่าท้าวอู่ทองและตั้งค่ายหลวงบริเวณหนองสาหร่าย[33] เช้าของวันจันทร์ แรม 2 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง พ.ศ. 2135 สมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถทรงเครื่องพิชัยยุทธ สมเด็จพระนเรศวรทรงช้าง นามว่า เจ้าพระยาไชยานุภาพ (พลายภูเขาทอง) ส่วนสมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงช้างนามว่า เจ้าพระยาปราบไตรจักร (พลายบุญเรือง) ช้างทรงของทั้งสองพระองค์นั้นเป็นช้างชนะงา คือช้างมีงาที่ได้รับการฝึกให้รู้จักการต่อสู้มาแล้วหรือเคยผ่านสงครามชนช้าง ชนะช้างตัวอื่นมาแล้ว และเป็นช้างที่กำลังตกมัน ในระหว่างการรบจึงวิ่งไล่ตามพม่าหลงเข้าไปในทัพพม่าจนถึงช่วงกลางของทัพ มีเพียงทหารรักษาพระองค์และจาตุรงค์บาทเท่านั้นที่ติดตามไปทัน[34] สมเด็จพระนเรศวรทอดพระเนตรเห็นพระมหาอุปราชาทรงพระคชสารอยู่ในร่มไม้กับเหล่าเท้าพระยา จึงทราบได้ว่าช้างทรงของสองพระองค์หลงถลำเข้ามาถึงกลางกองทัพ และตกอยู่ในวงล้อมข้าศึกแล้ว แต่ด้วยพระปฏิภาณไหวพริบของสมเด็จพระนเรศวร ทรงเห็นว่าเป็นการเสียเปรียบข้าศึกจึงไสช้างเข้าไปใกล้ แล้วตรัสถามด้วยคุ้นเคยมาก่อนแต่วัยเยาว์ว่า "พระเจ้าพี่เราจะยืนอยู่ใยในร่มไม้เล่า เชิญออกมาทำยุทธหัตถีด้วยกัน ให้เป็นเกียรติยศไว้ในแผ่นดินเถิด ภายหน้าไปไม่มีพระเจ้าแผ่นดินที่จะได้ยุทธหัตถีแล้ว"[35] พระมหาอุปราชาได้ยินดังนั้น จึงไสช้างนามว่า พลายพัทธกอเข้าชนเจ้าพระยาไชยานุภาพเสียหลัก ระหว่างการรบ พระมหาอุปราชาทรงฟันสมเด็จพระนเรศวรด้วยพระแสงของ้าว แต่สมเด็จพระนเรศวรทรงเบี่ยงหลบทัน จึงฟันถูกพระมาลาหนังขาด จากนั้นเจ้าพระยาไชยานุภาพได้ใช้เท้ายันโคนต้นพุทราชนพลายพัทธกอเสียหลัก สมเด็จพระนเรศวรทรงฟันด้วยพระแสงของ้าวถูกพระมหาอุปราชาเข้าที่อังสะขวา สิ้นพระชนม์อยู่บนคอช้าง[36] ส่วนสมเด็จพระเอกาทศรถทรงฟันมางจาชโร เจ้าเมืองจาปะโรเสียชีวิตเช่นกัน ทหารพม่าเห็นว่าแพ้แน่แล้ว จึงใช้ปืนระดมยิงใส่สมเด็จพระนเรศวรได้รับบาดเจ็บ ทันใดนั้นทัพหลวงไทยตามมาช่วยทัน จึงรับทั้งสองพระองค์กลับพระนคร พม่าจึงยกทัพกลับกรุงหงสาวดีไป นับแต่นั้นเป็นต้นมาก็ไม่มีกองทัพใดกล้ายกมากล้ำกรายกรุงศรีอยุธยาอีกเป็นระยะเวลาอีกยาวนาน[36] แต่ในมหายาชะเวงหรือพงศาวดารของพม่า ระบุว่า การยุทธหัตถีครั้งนี้ ช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรบุกเข้าไปในวงล้อมของฝ่ายพม่า ฝ่ายพม่าก็มีการยืนช้างเรียงเป็นหน้ากระดาน มีทั้งช้างของพระมหาอุปราชา ช้างของเจ้าเมืองชามะโรง ทหารฝ่ายสมเด็จพระนเรศวรก็ระดมยิงปืนใส่ฝ่ายพม่า เจ้าเมืองจาปะโรสั่งเปิดผ้าหน้าราหูช้างของตน เพื่อไสช้างเข้ากระทำยุทธหัตถีกับสมเด็จพระนเรศวรเพื่อป้องกันพระมหาอุปราชา แต่ปรากฏว่าช้างของเจ้าเมืองจาปะโรเกิดวิ่งเข้าใส่ช้างของพระมหาอุปราชาเกิดชุลมุนวุ่นวาย กระสุนปืนลูกหนึ่งของทหารฝ่ายสมเด็จพระนเรศวรก็ยิงถูกพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์[37] สงครามตีเมืองทะวายและตะนาวศรีศึกทะวายและตะนาวศรีนั้น เป็นการรบในระหว่างคนต้องโทษกับคนต้องโทษด้วยกัน กล่าวคือ ทางกรุงศรีอยุธยพาพวกนายทัพที่ตามเสด็จไม่ทันในวันยุทธหัตถีนั้น มีถึง 6 คนคือ พระยาพิชัยสงคราม พระยารามกำแหง เจ้าพระยาจักรี พระยาพระคลัง และพระยาศรีไสยณรงค์ สมเด็จพระนเรศวรรับสั่งให้ปรึกษาโทษ ลูกขุนปรึกษาโทษให้ประหารชีวิต สมเด็จพระวันรัตสังฆปรินายกมาถวายพระพรบรรยายว่า การที่แม่ทัพเหล่านั้นตามเสด็จไม่ทัน ก็เพราะบุญญาภินิหารของพระองค์ สมเด็จพระนเรศวรที่จะได้รับเกียรติคุณเป็นวีรบุรุษที่แท้จริง ด้วยเหตุว่าถ้าพวกนั้นตามไปทันแล้วถึงจะชนะก็ไม่เป็นชื่อเสียงใหญ่หลวงเหมือนที่เสด็จไปโดยลำพัง เมื่อเห็นว่าสมเด็จพระนเรศวรทรงเลื่อมใสในคำบรรยายข้อนี้แล้ว สมเด็จพระวันรัตก็ทูลขอโทษพวกแม่ทัพเหล่านี้ไว้ สมเด็จพระนเรศวรก็โปรดประทานให้ แต่พวกนี้จะต้องไปตีทะวายและตะนาวศรีเป็นการแก้ตัว จึงให้เจ้าพระยาจักรีเป็นแม่ทัพคุมพลห้าหมื่นไปตีตะนาวศรี พระยาพระคลังคุมกำลังพลหมื่นเหมือนกันไปตีทะวาย ส่วนแม่ทัพอื่น ๆ ที่ต้องโทษก็แบ่งกันไปในสองกองทัพนี้คือพระยาพิชัยสงครามกับพระยารามคำแหงไปตีเมืองทะวายกับพระยาพระคลัง และให้พระยาเทพอรชุนกับพระยาศรีไสยณรงค์ไปตีเมืองตะนาวศรีกับเจ้าพระยาจักรี[38][39] ส่วนทางหงสาวดีนั้น เมื่อพระเจ้านันทบุเรงเสียพระโอรสรัชทายาทแล้วก็โทมนัส ให้ขังแม่ทัพนายกองไว้ทั้งหมด แต่ภายหลังทรงดำริว่าไทยชนะพม่าในครั้งนี้แล้วก็จะต้องมาตีพม่าโดยไม่ต้องสงสัย ก่อนที่ไทยไปรบพม่าก็จะต้องดำเนินการอย่างเดียวกันกับที่พม่ารบกับไทย กล่าวคือ จะต้องเอามอญไว้ในอำนาจเสียก่อนและเป็นการแน่นอนว่าไทยจะต้องเข้ามาตีทะวายและตะนาวศรี ด้วยเหตุนี้จึงให้แม่ทัพนายกองที่ไปแพ้สงครามมาครั้งนี้ไปแก้ตัวรักษาเมืองตะนาวศรีและเมืองทะวาย เป็นอันว่าทั้งผู้รบและผู้รับทั้งสองฝ่าย ตกอยู่ในฐานคนผิดที่จะต้องแก้ตัวทั้งสิ้น[40] ในการรบทะวายและตะนาวศรีครั้งนี้แม่ทัพทั้งสองคือ เจ้าพระยาจักรีและพระยาคลังกลมเกลียวกันเป็นอย่างยิ่ง ถึงแม้สมเด็จพระนเรศวรจะได้แบ่งหน้าที่ให้ตีคนละเมือง ก็ยังมีการติดต่อช่วยเหลือกันและกัน ในที่สุดแม่ทัพทั้งสองก็รบชนะทั้งสองเมืองและบอกเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีไสยณรงค์อยู่ครองเมืองตะนาวศรี ส่วนทางเมืองทะวายนั้นให้เจ้าเมืองทะวายคนเก่าครองต่อไป ชัยชนะครั้งนี้เป็นอันทำให้แม่ทัพทั้งหลายพ้นโทษ แต่ทางพม่าแม่ทัพกลับถูกทำโทษประการใดไม่ปรากฏ แต่อย่างไรก็ดีการชนะทะวายและตะนาวศรีครั้งนี้ ทำให้อำนาจของไทยแผ่ลงไปทางใต้เท่ากับในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช[41][42] ตีได้หัวเมืองมอญปี พ.ศ. 2137 พระยาลาว เจ้าเมืองเมาะตะมะ เกิดวิวาทกับเจ้าพระยาพะโร เจ้าเมืองเมาะลำเลิง พระยาพะโรกลัวพระยาลาวจะมาตีเมาะลำเลิงจึงให้สมิงอุบากองถือหนังสือมาขอบารมีสมเด็จพระนเรศวรเป็นที่พึ่ง ขอพระราชทานกองทัพไปช่วยป้องกันเมือง สมเด็จพระนเรศวรจึงยอมรับช่วยเหลือพระยาพะโรทันที มีดำรัสสั่งให้พระยาศรีไศลออกไปช่วยรักษาเมืองเมาะลำเลิง ซึ่งแต่บัดนี้ไปได้ยอมมาสวามิภักดิ์เป็นประเทศราชของไทย ฝ่ายข้างพระยาลาวเจ้าเมืองเมาะตะมะ ก็ไปขอความช่วยเหลือทางหงสาวดีบ้าง ทางหงสาวดีให้พระเจ้าตองอูยกทัพมาช่วย แต่กองทัพไทยกับมอญเมาะลำเลิงได้ตีทัพพระเจ้าตองอูแตกไป ตีเมืองหงสาวดีครั้งแรกการที่สมเด็จพระนเรศวร ได้หัวเมืองมอญฝ่ายใต้มาเป็นเมืองขึ้น นับว่าเป็นจุดหักเหที่มีนัยสำคัญ ของการสงครามไทยกับพม่า จากเดิม ฝ่ายพม่าเป็นฝ่ายยกทัพมาไทยโดยตลอด การได้หัวเมืองมอญฝ่ายใต้ ทำให้ไทยใช้เป็นฐานทัพ ที่จะยกกำลังไปตีเมืองหงสาวดีได้สะดวก สมเด็จพระนเรศวรเสด็จยกกองทัพหลวงไปตีเมืองหงสาวดี ออกจากพระนคร เมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น3 ค่ำ เดือนอ้าย ปีมะแม พ.ศ. 2138 มีกำลังพล 120,000 คน เดินทัพไปถึงเมืองเมาะตะมะ แล้วรวบรวมกองทัพมอญเข้ามาสมทบ จากนั้น ได้เสด็จยกกองทัพหลวงไปยังเมืองหงสาวดี เข้าล้อมเมืองไว้ กองทัพไทยล้อมเมืองหงสาวดีอยู่ 3 เดือน และได้เข้าปล้นเมือง เมื่อวันจันทร์ แรม 13 ค่ำ เดือน 4 ครั้งหนึ่ง แต่เข้าเมืองไม่ได้ ครั้นเมื่อทรงทราบว่าพระเจ้าแปร พระเจ้าอังวะ พระเจ้าตองอู ได้ยกกองทัพลงมาช่วยพระเจ้านันทบุเรงถึงสามเมือง เห็นว่าข้าศึกมีกำลังมากนักจึงทรงให้เลิกทัพกลับ เมื่อวันสงกรานต์ เดือน 5 ปีวอก พ.ศ. 2139 และได้กวาดต้อนครอบครัวในหัวเมืองหงสาวดี มาเป็นเชลยเป็นอันมาก และกองทัพข้าศึกมิได้ยกติดตามมารบกวนแต่อย่างใด การสงครามครั้งนี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า สมเด็จพระนเรศวรเสด็จยกทัพไปครั้งนี้ เป็นการจู่ไป โดยไม่ให้ข้าศึกมีเวลาพอตระเตรียมการต่อสู้ได้พรักพร้อม และพระราชประสงค์ที่ยกไปนั้น น่าจะมีอยู่ 3 ประการคือ
ข้อสันนิษฐานอื่น ๆ มีอยู่ว่า การกวาดต้อนผู้คนกลับพระราชอาณาจักรไทยครั้งนี้ น่าจะได้ช่วยนำคนไทย ผู้ซึ่งถูกพม่ากวาดต้อนเอาไปเป็นเชลย แล้วเอาตัวไว้ใช้งานตามเมืองต่าง ๆ กลับมาด้วย ประการต่อมา สาเหตุที่ยกทัพกลับนั้น นอกจากจะทรงเห็นว่า กองทัพข้าศึกกำลังระดมยกมาจากอีกสามเมืองใหญ่ มีกำลังมากแล้ว เสบียงอาหารของกองทัพไทยก็น่าจะขาดแคลน เพราะมีกำลังพลมาก และล้อมเมืองหงสาวดีอยู่นานถึงสามเดือน ประกอบกับใกล้เข้าสู่ฤดูฝนแล้ว และประการสุดท้าย การที่พระองค์ถอนทัพกลับ โดยที่พม่าไม่ได้ยกติดตามตีหรือรบกวนแต่อย่างใด ทั้งที่มีพลเรือนที่ถูกกวาดต้อนมาเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับครั้งสงครามประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง ก็น่าจะเป็นเพราะพระองค์ดำเนินการถอนทัพ และนำผู้คนพลเรือนกลับมาอย่างมีระบบ โดยให้พลเรือนล่วงหน้าไปก่อน ตีเมืองหงสาวดีครั้งที่สองพ.ศ. 2142 สมเด็จพระนเรศวรทรงมุ่งหมายจะตีเอาเมืองหงสาวดีให้ได้ จึงตระเตรียมทัพยกไปทั้งทางบกและทางเรือ ได้ออกเกลี้ยกล่อมหัวเมืองต่าง ๆ ให้อ่อนน้อมต่อไทยได้อีกหลายเมือง แม้แต่เชียงใหม่ซึ่งได้ตั้งแข็งเมืองต่อพม่าแล้ว แต่คิดเกรงว่ากรุงศรีสัตนาคนหุตและไทยจะยกทัพไปรุกราน ก็ได้ตัดสินใจยอมอ่อนน้อมมาขอขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยาด้วย ส่วนเมืองตองอูกับเมืองยะไข่เมื่อเอาใจออกห่างจากกรุงหงสาวดีไปแล้ว ก็หันมาฝักใฝ่กับไทยและรับว่า ไทยยกทัพไปตีกรุงหงสาวดีแล้ว ก็จะเข้าร่วมช่วยเหลือพระเจ้ายะไข่นั้นอยากได้หัวเมืองชายทะเล ส่วนพระเจ้าตองอูนัดจินหน่องอยากได้เป็นพระเจ้าหงสาวดีแทน สมเด็จพระนเรศวรจึงทรงรับเป็นไมตรีกับเมืองทั้งสองนั้น ในระหว่างนั้นพระมหาเถระเสียมเพรียมภิกษุรูปหนึ่งได้เข้ายุยงพระเจ้าตองอูนะฉิ่นเหน่าง์มิให้อ่อนน้อมแก่ไทย และแจ้งอุบายให้พระเจ้าตองอูนัดจินหน่องคิดอ่านเอาเมืองหงสาวดีเสียเอง พระเจ้าตองอูนัดจินหน่องเห็นชอบด้วยจึงชวนพระเจ้ายะไข่ให้ไปตีเมืองหงสาวดี แล้วพระเจ้าตองอูจนัดจินหน่องะทำทีเป็นยกกองทัพมาช่วยหงสาวดี พอเข้าเมืองได้แล้วก็หย่าศึกกันเสีย และจะแบ่งประโยชน์ให้ตามที่พระเจ้ายะไข่ต้องการ คือจะยกหัวเมืองชายทะเลให้แก่พระเจ้ายะไข่ แต่ครั้งทัพพระเจ้ายะไข่และทัพพระเจ้าตองอูนัดจินหน่องเข้าประชิดเมืองหงสาวดีแล้วก็หาเข้าเมืองไม่ ทั้งนี้เพราะพระเจ้านันทบุเรงเกิดทรงระแวงขึ้น ทัพพระเจ้าตองอูนัดจินหน่องและพระเจ้ายะไข่จึงได้แต่ตั้งล้อมเมืองหงสาวดีไว้ สมเด็จพระนเรศวรทรงเห็นว่าทางกรุงหงสาวดีกำลังปั่นป่วนจึงเสด็จยกทัพหลวงไปตีหงสาวดี แต่ต้องไปเสียเวลาปราบปรามกบฏตามชายแดนซึ่งพระเจ้าตองอูนัดจินหน่องได้ยุยงให้กระด้างกระเดื่องเป็นเวลาถึง 3 เดือนเศษ จึงเดินทัพถึงเมืองหงสาวดีช้ากว่ากำหนดที่คาดหมายไว้ ทางฝ่ายพระเจ้าตองอูนัดจินหน่องและพระเจ้ายะไข่ซึ่งกำลังล้อมเมืองหงสาวดีอยู่ พอได้ทราบข่าวว่าสมเด็จพระนเรศวรยกกองทัพขึ้นไปกำจัดกบฏตามชายแดนเมืองเมาะตะมะ และกำลังเดินทัพมาก็แจ้งให้พระเจ้านันทบุเรงทราบ พระเจ้านันทบุเรงก็จำใจอนุญาตให้พระเจ้าตองอูยกทัพเข้าไปในเมืองหงสาวดีได้ และมอบหมายให้พระเจ้าตองอูนัดจินหน่องบัญชาการรบแทนทุกประการ พระเจ้าตองอูนัดจินหน่องจึงกวาดต้อนผู้คนและทรัพย์สมบัติ รวมทั้งพระเจ้านันทบุเรงไปยังเมืองตองอู ทิ้งเมืองหงสาวดีไว้ให้กองทัพพระเจ้ายะไข่ค้นคว้าทรัพย์ที่ยังเหลืออยู่ต่อไป พอพระเจ้าตองอูนัดจินหน่องออกจากหงสาวดีไปได้ประมาณ 8 วัน กองทัพไทยก็ยกไปถึงเมืองหงสาวดี ครั้นสมเด็จพระนเรศวรได้ทรงทราบว่าพระเจ้าตองอูนัดจินหน่องไม่ซื่อตรงตามคำมั่นที่ได้ให้ไว้ก็ทรงพระพิโรธ จึงเสด็จยกทัพตามขึ้นไปตีเมืองตองอู ได้เข้าล้อมเมืองตองอูอยู่ถึง 2 เดือนก็ไม่อาจตีหักเอาได้ เพราะเมืองตองอูมีชัยภูมิที่ดี ชาวเมืองก็ต่อสู้เข้มแข็ง ประกอบกับฝนตกชุกและทัพไทยขาดเสบียงอาหาร สมเด็จพระนเรศวรจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกกองทัพกลับคืนกรุงศรีอยุธยา สวรรคตสมเด็จพระนเรศวร กับสมเด็จพระเอกาทศรถ เสด็จยกกองทัพออกจากพระนคร เมื่อวันพฤหัสบดี แรม 8 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง พ.ศ. 2148 เสด็จโดยกระบวนเรือจากพระตำหนักป่าโมก แล้วเสด็จขึ้นบนที่ตำบล เอกราชไปตั้งทัพชัย ณ ตำบลพระหล่อ แล้วยกกองทัพบกไปทางเมืองกำแพงเพชรสู่เมืองเชียงใหม่ ครั้นเสด็จถึงเมืองเชียงใหม่ก็หยุดพักจัดกระบวนทัพอยู่หนึ่งเดือน แล้วให้กองทัพสมเด็จพระเอกาทศรถยกไปทางเมืองฝาง ส่วนกองทัพหลวงยกไปทางเมืองหางหลวง ครั้นเสด็จถึงเมืองหางแล้วก็ให้ตั้งค่ายหลวงประทับอยู่ที่ทุ่งแก้ว สมเด็จพระนเรศวรทรงพระประชวรเป็นหัวระลอก (ฝี) ขึ้นที่พระพักตร์ แล้วกลายเป็นบาดทะพิษพระอาการหนัก จึงโปรดให้ข้าหลวงรีบไปเชิญเสด็จสมเด็จพระเอกาทศรถมาเฝ้า สมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จฯ มาถึงได้ 3 วัน สมเด็จพระนเรศวรก็เสด็จสวรรคต เมื่อวันจันทร์ ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2148 สิริพระชนมพรรษา 49 พรรษาเศษ ดำรงราชสมบัติ 14 ปีเศษ สมเด็จพระเอกาทศรถจึงได้อัญเชิญพระบรมศพกลับกรุงศรีอยุธยา[43] ชีวิตส่วนพระองค์พระราชประวัติของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชส่วนใหญ่ได้จากพงศาวดารอยุธยา ซึ่งมักมีการจดบันทึกในพระราชกรณียกิจ ซึ่งส่วนใหญ่บันทึกถึงการทำสงครามกับอาณาจักรเพื่อนบ้านเป็นอันมาก จนมองข้ามเกี่ยวกับเจ้านายฝ่ายในหรือพระมเหสีของพระองค์ อย่างไรก็ตามได้มีการปรากฏพระนามของเจ้านายฝ่ายใน ในเอกสารของต่างชาติ 5 ฉบับด้วยกัน ซึ่งได้แก่ จดหมายเหตุสเปน (History of the Philippines and Other Kingdom) ของบาทหลวงมาร์เชโล เด ริบาเดเนย์รา (Marchelo de Ribadeneira, O.F.M), จดหมายเหตุวันวลิต, พงศาวดารละแวก, คำให้การขุนหลวงหาวัด และมหาราชวงศ์ ฉบับหอแก้ว ซึ่งปรากฏพระนามพระมเหสี 3-4 พระองค์ โดยมีพระนามดังนี้[44]
มีการกล่าวถึง พระมณีรัตนา และเจ้าขรัวมณีจันทร์ ว่าอาจเป็นบุคคลเดียวกัน แต่บ้างก็ว่าอาจเป็นคนละคนกัน โดยเชื่อว่า พระมณีรัตนาอาจเป็นเจ้าหญิงที่สืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์ละโว้สายสุพรรณภูมิของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิและสมเด็จพระมหินทราธิราช[46] ซึ่งในขณะนั้นเจ้านายฝ่ายในในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระองค์หนึ่งมีพระนามว่า พระรัตนมณีเนตร หรือ พระแก้วฟ้า ซึ่งเป็นพระขนิษฐาต่างชนนีของพระวิสุทธิกษัตรีย์ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นพระนางจะมีศักดิ์เป็นพระมาตุจฉาของพระนเรศวร[47] อย่างไรก็ตามเจ้าขรัวมณีจันทร์ มีบทบาทสูงกว่าพระมเหสีจากเชียงใหม่และเขมร[48] โดยมีการสถาปนาพระนางเป็นอัครมเหสีดังที่ปรากฏในคำให้การขุนหลวงหาวัดที่กล่าวถึงเมื่อครั้งที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จขึ้นเสวยราชย์สมบัติต่อจากพระราชบิดา ความว่า
หลังจากการสวรรคตของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถได้เสด็จขึ้นครองราชย์ต่อนั้น เจ้าขรัวมณีจันทร์ได้ปรากฏอีกครั้งในจดหมายเหตุวันวลิต ที่ได้กล่าวถึง พระชายาม่ายของสมเด็จพระนเรศวร ได้เสด็จออกบวชชี และเป็นเหตุให้บุคคลทั่วไปเรียกกันว่า เจ้าขรัว จนกระทั่งมีเหตุการณ์หนึ่งที่เสด็จไปช่วยพระราชโอรสพระองค์หนึ่งของสมเด็จพระเอกาทศรถ คือ "เจ้าไล" หรือศรี ซึ่งมีเหตุวิวาทกับพระยาออกนา จนต้องพระราชอาญาจนถึงชีวิต ข้ารองพระบาทในพระองค์ไลจึงได้ไปทูลขอพึ่งพระบารมีเจ้าขรัวมณีจันทร์ซึ่งเป็นพระปิตุจฉา พระนางจึงรีบเสด็จเข้าเฝ้าสมเด็จพระเอกาทศรถ จนสมเด็จพระเอกาทศรถยินยอมด้วยความเกรงพระทัย (แต่ในจดหมายเหตุวันวลิตกล่าวว่า ถูกฟันด้วยพระแสงดาบและถูกจำคุกเป็นเวลา 5 เดือน เจ้าขรัวมณีจันทร์จึงได้ขอพระราชทานอภัยโทษ)[49] โดยปรากฏในจดหมายเหตุวันวลิต ความว่า "จนกระทั่งเจ้าขรัวมณีจันทร์ ชายาม่ายของพระเจ้าอยู่หัวในพระโกศ คือ พระ Marit หรือพระองค์ดำ ได้ทูลขอจึงเป็นที่โปรดปรานอีก"[50] พระราชโอรส-ธิดามีการกล่าวถึงพระราชโอรสในสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในจดหมายเหตุสเปน (History of the Philippines and Other Kingdom) ของบาทหลวงมาร์เชโล เด ริบาเดเนย์รา (Marchelo de Ribadeneira, O.F.M) ที่เขียนขึ้นจากคำบอกเล่าของบาทหลวงคณะฟรันซิสกันที่เคยพำนักอยู่ในกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. 2125 ปลายรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช และ พ.ศ. 2139 ตรงกับต้นรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยเนื้อความในจดหมายเหตุนี้ได้มีการอธิบายถึงกระบวนพยุหยาตราชลมารคของพระเจ้าแผ่นดินสยาม โดยมีเนื้อความตอนหนึ่งที่ได้กล่าวถึงพระอัครมเหสีและพระราชโอรสผู้ทรงพระเยาว์โดยเสด็จด้วย ความว่า[51]
เมื่อนำเหตุการณ์ที่บาทหลวงสเปนได้เขียนบอกเล่าไว้ไปเทียบเคียงกับพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) จะพบว่าในรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้มีการกล่าวถึงพระราชพิธีอาสวยุทธ และการต้อนรับคณะทูตกัมพูชาที่เดินทางมาถวายเครื่องราชบรรณาการยังราชสำนักอยุธยาซึ่งตรงกับเหตุการณ์การเสด็จฯทางชลมารคและการออกรับทูตกัมพูชาในจดหมายเหตุของสเปน[52] โดยบางทีสมเด็จพระนเรศวรมหาราชอาจมีพระราชโอรสมากกว่า 1 พระองค์แล้ว เนื่องจากในจดหมายเหตุมีการใช้คำว่า "พระราชกุมารพระองค์เยาว์ที่สุด" นอกจากนี้สมเด็จพระนเรศวรมหาราชก็มีพระราชธิดาด้วย โดยกล่าวถึงพระเจ้าเชียงใหม่นรธาเมงสอได้รับการช่วยเหลือจากกรุงศรีอยุธยาเพื่อจัดการปัญหาเมืองขึ้นแข็งเมือง และช่วยป้องกันการรุกรานจากข้าศึก ด้วยการเกื้อกูลกันดังกล่าว ได้สร้างสายสัมพันธ์ทางเครือญาติกับนรธามังสอและสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้ทรงยกพระราชธิดาให้สมรสกับเมงสาตุลอง[53][54]ผู้ซึ่งเป็นพระราชโอรสในพระเจ้านรธามังสอ โดยพระเจ้านรธามังสอก็ได้ถวายพระราชธิดาให้เป็นพระมเหสีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชด้วย[55] โดยการมอบพระราชธิดาของพระเจ้านรธามังสอแด่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีปรากฏในโคลงบทที่ 21 ความว่า
อย่างไรก็ตามก็มีหลักฐานเกี่ยวกับพระอัครมเหสีรวมไปถึงพระราชโอรสและพระราชธิดาน้อยมาก เนื่องจากผู้ที่เขียนจดหมายเหตุสเปนเองก็บันทึกจากผู้เห็นเหตุการณ์ที่ไม่รู้รายละเอียด รวมไปถึงพงศาวดารของพม่าที่กล่าวถึงพระราชธิดาในสมเด็จพระนเรศวรมหาราชอย่างผ่าน ๆ เท่านั้น[57] ภายหลังจากที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จสวรรคตแล้ว ราชสมบัติจึงตกแก่สมเด็จพระเอกาทศรถ[58] พระบรมราชานุสรณ์
พระบรมราชานุสาวรีย์และศาลสมเด็จพระนเรศวรฯ มีการจัดสร้างไว้เพื่อรำลึกถึงพระราชวีรกรรมของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตามจังหวัดต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ ได้แก่ ส่วนกลาง กรุงเทพมหานคร, ต่างจังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก (พระราชวังจันทน์, ค่ายสมเด็จพระนเรศวร, มหาวิทยาลัยนเรศวร), พระนครศรีอยุธยา (ทุ่งภูเขาทอง, วัดใหญ่ชัยมงคล), สุพรรณบุรี (ดอนเจดีย์ ถือว่าเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์แห่งแรกและในเขตเทศบาลสุพรรณบุรี), อ่างทอง (วัดท่าสุทธาวาส), เชียงใหม่ (เชียงดาว), เชียงราย (แม่สาย), ลำปาง, แม่ฮ่องสอน, เพชรบูรณ์, สระแก้ว, หนองบัวลำภู, เพชรบุรี, ประจวบคีรีขันธ์ (อุทยานราชภักดิ์), ปราจีนบุรีและกาญจนบุรี เป็นต้น
วันที่ 18 มกราคมของทุกปี เป็นวันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ระลึกถึงพระองค์ผู้ทรงต่อสู้อริราชศัตรูและทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยชนะพระมหาอุปราชา และทรงกอบกู้เอกราชประกาศอิสรภาพจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่หนึ่ง
ในวัฒนธรรมสมัยนิยมภาพยนตร์ได้มีการนำพระราชประวัติของพระองค์มาสร้างเป็นภาพยนตร์ 3 ครั้ง ครั้งแรก ใช้ชื่อว่า นเรศวรมหาราช ในปี พ.ศ. 2500 รับบทโดย ชูชัย พระขรรค์ชัย ครั้งที่ 2 ใช้ชื่อว่า มหาราชดำ ในปี พ.ศ. 2522[65] รับบทโดย พิศาล อัครเศรณี และครั้งที่ 3 ใช้ชื่อว่า ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในปี พ.ศ. 2550[66] รับบทโดย วันชนะ สวัสดี เช่นเดียวกับภาพยนตร์เรื่อง กษัตริยา ควบคู่กับ มหาราชกู้แผ่นดิน ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มีพระชนมพรรษาครบ 72 พรรษา ใน พ.ศ. 2542 โดยบริษัท กันตนา จำกัด เป็นผู้ผลิตรายการ ออกฉายทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ในช่วงปี พ.ศ. 2545 ถึง พ.ศ. 2546[67] ละครโทรทัศน์พระราชประวัติของพระองค์ยังได้มีการนำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์ถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกใช้ชื่อว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อ พ.ศ. 2530 ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 รับบทโดย เอกพันธ์ บรรลือฤทธิ์ ภายหลังมีการนำละครเรื่องนี้มาฉายใหม่ทางช่อง สทท.11 อีกครั้ง (ประมาณ พ.ศ. 2540) และครั้งที่ 2 ใช้ชื่อว่า ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เดอะซีรีส์ เมื่อ พ.ศ. 2560 ออกอากาศทางโมโน 29 รับบทโดย ทวีฤทธิ์ จุลละทรัพย์ ซึ่งเรื่องนี้ถ่ายทำเป็นรูปแบบของซีรีส์ และได้เสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโทรทัศน์ทองคำในปี พ.ศ. 2560 จากการออกอากาศในฤดูกาลแรก[68] เช่นเดียวกับการนำไปสร้างเป็นหนังสือการ์ตูนอยู่หลายครั้ง เช่น มหากาพย์กู้แผ่นดิน ผลงานของมนตรี คุ้มเรือน เป็นต้น[69] แอนิเมชั่นนอกจากนี้ พระองค์ยังปรากฏในภาพยนตร์แอนิเมชันสามมิติ ก้านกล้วย และ ก้านกล้วย 2 ที่ออกฉายใน พ.ศ. 2549 และ 2552 ตามลำดับ โดยภาพยนตร์มีเนื้อหาหลักเกี่ยวกับเจ้าพระยาปราบหงสาวดีซึ่งเป็นช้างทรงของพระองค์ รวมถึงสงครามยุทธหัตถีด้วย นวนิยายไม้ เมืองเดิม ได้นำเหตุการณ์ในสมัยนี้ไปใช้เป็นฉากในนวนิยายเรื่อง ขุนศึก ซึ่งตัวเอกของเรื่องคือ เสมา ทหารในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชซึ่งมีชาติกำเนิดเป็นช่างตีเหล็ก นวนิยายเรื่องนี้ได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์เช่นกัน[70] พงศาวลี
อ้างอิง
บรรณานุกรม
ดูเพิ่มแหล่งข้อมูลอื่นวิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อที่เกี่ยวข้องกับ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
|