ยุธิษฐิระ
ยุธิษฐิระ (สันสกฤต:युधिष्ठिर) เป็นพี่ชายคนโตของตระกูลปาณฑพ โดยถือว่าเป็นพระโอรสของท้าวปาณฑุ กับ พระนางกุนตี แต่จริง ๆ แล้วเป็นพระโอรสของพระนางกุนตีและพระธรรมเทพ (พระยม) มีลักษณะโดดเด่นคือเป็นผู้มีความยุติธรรม ตั้งอยู่บนหลักธรรมเคร่งครัดตลอดมา พี่น้องปาณฑพจึงยึดเอาการตัดสินใจของพี่คนโตคนนี้เป็นหลัก ยุธิษฐิระ แปลว่า ผู้มีความมั่นคงในการสงคราม และยังมีชื่ออื่น ๆ อีก เช่น ภารตะวงศี อชาตศัตรู ธรรมนันทัน ธรรมราช ยุธิษฐิระมีพระมเหสีคือพระนางเทราปตี (ซึ่งเป็นพระมเหสีของปาณฑพทั้งห้า) มีพระโอรสด้วยกัน 1 พระองค์คือ ประติวินธยะ ครั้งหนึ่งทุรโยธน์อิจฉาพวกปานฑพมาก จึงขอให้ท้าวธฤตราษฎร์แบ่งกรุงหัสตินาปุระออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือกรุงหัสตินาปุระที่รุ่งเรืองให้กับทุรโยธน์ครอบครองและดินแดนขาณฑวปรัสถ์ที่แห้งแล้ง ไม่มีความอุดมสมบูรณ์ซึ่งคิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของกรุงหัสตินาปุระ ให้พวกปาณฑพครอบครอง ยุธิษฐิระซึ่งเป็นพี่คนโตและมีหลักธรรมประจำใจว่าจะไม่ปฏิเสธคำของผู้ใหญ่จึงรับดินแดนส่วนนี้ไว้ พระกฤษณะ (นารายณ์อวตาร) ทราบจึงมาช่วยพวกปาณฑพพลิกฟื้นดินแดนส่วนนี้ขึ้นมาใหม่ โดยให้พระวิษณุกรรม (พระวิสสุกรรม พระเวสสุกรรม หรือ พระเพชฉลูกรรม) ซึ่งเป็นสถาปนิกของพระอินทร์มาช่วยสร้างพระราชวังใหญ่โตให้กับพวกปาณฑพ โดยยุธิษฐิระเป็นกษัตริย์และตั้งชื่อว่ากรุงอินทรปรัสถ์ จากนั้นเมื่อมีผู้ทราบว่าพวกปาณฑพมาเป็นกษัตริย์ที่เมืองนี้ ก็เริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่อินทรปรัสถ์บ้าง ทำให้กรุงอินทรปรัสถ์รุ่งเรืองขึ้นมาอย่างรวดเร็วจากที่ไม่มีอะไรเลย มีอยู่วันหนึ่งพระกฤษณะและอรชุนได้ช่วยยักษ์ที่ชื่อมายาสูร (เป็นผู้ช่วยพระวิษณุกรรมด้วย) ไม่ให้พระอัคนีที่กำลังเผาป่าขาณฑวะกินเป็นอาหาร เผายักษ์ตนนี้ด้วย ยักษ์มายาจึงสำนึกในบุญคุณของอรชุนและพระกฤษณะมากจึงดำเนินการสร้างสภาอันยิ่งใหญ่ตระการตาให้กับพวกปาณฑพ โดยตั้งชื่อว่า มายาสภา หลังจากสร้างมายาสภาได้ไม่นาน เทพฤๅษีนารัทมุนี ก็แนะนำให้ยุธิษฐิระทำพิธีราชสูยะ (เป็นพิธีที่ประกาศความยิ่งใหญ่ของกรุงอินทรปรัสถ์ โดยส่งสาส์นออกไปให้พระราชาแคว้นต่าง ๆ ยอมรับ หากไม่ยอมรับก็ทำสงครามกัน) อรชุนไปทางทิศเหนือ ภีมะไปทางทิศตะวันออก นกุลเลือกทิศตะวันตก ส่วนสหเทพเลือกทิศใต้ โดยทำได้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ด้วยเหตุนี้ทำให้พวกทุรโยธน์อิจฉาขึ้นมาอีก จึงสร้างสภาขึ้นมาบ้างและเชิญพวกปาณฑพมาเล่นสกากัน จุดมุ่งหมายคือ จะเล่นสกาพนันเอาบ้านเอาเมืองกัน ยุธิษฐิระเมื่อเห็นว่าท้าวธฤตราษฎร์เป็นผู้กล่าวชักชวน จึงไม่ปฏิเสธ โดยทุรโยธน์ให้ศกุนิผู้เป็นลุงและชำนาญในการเล่นสกามาก เป็นผู้เล่นแทนและชนะทุกครั้ง ผลคือพวกปาณฑพแพ้และไม่เหลืออะไรสักอย่าง ยุธิษฐิระจึงเริ่มจากการพนันน้องชาย นกุล สหเทพ อรชุน และภีมะตามลำดับ จากนั้นจึงเอาตัวเองเป็นพนันและเล่นสกาต่อไปโดยใช้พระนางเทราปตีพนัน แต่ก็แพ้จนหมด ทุรโยธน์สั่งให้ทุหศาสันนำตัวพระนางเทราปตีมายังสภาและย่ำยีเกียรติของนางโดยบอกให้นางมานั่งตัก ภีมะทนไม่ไหวจึงลั่นคำสาบานออกมาว่าจะใช้คทาของภีมะเองทุบหน้าขาของทุรโยธน์ให้แหลก จากนั้นกรรณะหรือราธียะก็ให้ทุหศาสันดึงผ้าส่าหรีของพระนางเทราปตีออกมา แต่พระนางได้ขอให้พระกฤษณะช่วยไว้ พระกฤษณะจึงประทานผ้าส่าหรีให้นางไม่มีวันหมดสิ้นจนในที่สุดทุหศาสันก็หมดแรง ภีมะลั่นคำสาบานออกมาอีกเป็นรอบที่สองคือ จะฉีกอกทุหศาสันเพื่อดื่มเลือดให้หายแค้น นอกจากนี้ภีมะยังบอกอีกว่า ตนจะเป็นคนฆ่าทุรโยธน์ ทุหศาสันและ อรชุนจะฆ่ากรรณะ สหเทพจะฆ่าศกุนิ ส่วนนกุลก็สาบานว่าจะฆ่าลูกของศกุนิ เช่น อูลูกะ เรื่องราวเลยเถิดออกมามากจนในที่สุดท้าวธฤตราษฎร์ก็ขอให้พระนางเทราปตีให้อภัยและแลกกับให้นางขออะไรก็ได้ นางจึงขอให้คืนทุกอย่างกลับสู่สภาพเดิม ท้าวธฤตราษฎร์จึงตกลงตามที่ว่า แต่ทุรโยธน์ไม่จบแค่นั้น ยังให้ท้าวธฤตราษฎร์ชักชวนให้พวกปาณฑพมาเล่นสกาอีกครั้งหนึ่ง โดยผู้แพ้ต้องออกป่าเป็นเวลา 13 ปี และในปีที่ 13 ห้ามให้ใครจำได้ ถ้าใครจำได้ต้องเดินป่าอีก 13 ปี ยุธิษฐิระทราบชะตากรรมดี แต่ก็ยอมเล่นสกา ระหว่างที่เดินป่าฤๅษีวยาสก็สอนมนต์เพื่อขออาวุธวิเศษจากพระศิวะแก่ยุธิษฐิระเพื่อถ่ายทอดให้กับอรชุนต่อไปด้วย อรชุนจึงได้อาวุธวิเศษกลับมาพร้อมทั้งได้รับการสอนการร่ายรำ นาฏศิลป์ต่าง ๆ จากท้าวจิตรเสนและรับการสอนการใช้อาวุธจากอินทรเทพผู้เป็นพระบิดาอีกด้วย ระหว่างนั้น นางอัปสรอุรวศีก็พอใจอรชุนมาก แต่อรชุนเห็นว่านางเป็นแม่เท่านั้น นางโกรธมากจึงสาปให้อรชุนเป็นกะเทยตลอดไป แต่พระอินทร์ก็เกลี้ยกล่อมให้นางลดคำสาปเหลือ 1 ปี ให้เป็นในปีที่ 13 ที่พวกปาณฑพต้องเดินป่า จะได้เป็นประโยชน์ในการอำพรางตัว ในปีที่ 13 ที่พวกปาณฑพต้องไม่ให้ใครจำได้นั้น ยุธิษฐิระได้ขอพรจากพระธรรมเทพผู้เป็นบิดาว่าในปีที่ 13 นี้ขอให้ไม่มีใครจำได้ เนื่องจากพระธรรมเทพมาพิสูจน์ความตั้งมั่นอยู่บนหลักธรรมของยุธิษฐิระ โดยการทำให้น้องชายทั้งสี่คนตายไปและแปลงกายเป็นยักษ์ ผู้เฝ้าธารน้ำที่พี่น้องปาณฑพสี่คนลงไปดื่ม แล้วถามว่ายุธิษฐิระจะเลือกใครให้ฟื้นขึ้นมา จึงเลือกนกุล เพราะตนเป็นบุตรพระมารดากุนตี ส่วนบุตรของพระมารดามาทรีหรือมัทรีได้ตายไปหมดแล้ว จึงเลือกนกุลให้ฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง พระธรรมเทพพอใจมากจึงคืนชีวิตให้กับทุกคนและปรากฏร่างเป็นพระธรรมเทพดังเดิม จากนั้นปาณฑพตกลงว่าจะแฝงตัวไปทำงานในวังของท้าววิราฎ แคว้นมัตสยะ โดยยุธิษฐิระได้ใช้ชื่อว่า กังกะ เข้ามาทำงานเป็นมหามนตรีและสอนสกาแก่ท้าววิราฏ, ภีมะใช้ชื่อว่าวัลลภ เข้ามาทำงานเป็นพ่อครัวหลวง, อรชุน ใช้ชื่อว่าพฤหันนลา(ในขณะนั้นเป็นกะเทย) เข้ามาทำงานสอนนาฏศิลป์แก่เจ้าหญิงอุตตรา พระธิดาของท้าววิราฏ, นกุล ใช้ชื่อว่า ครันถิกะ เข้ามาทำงานดูแลม้า, สหเทพ ใช้ชื่อว่า ตันติบาล เข้ามาทำงานดูแลปศุสัตว์ ส่วนพระนางเทราปตีใช้ชื่อว่า ไศรันทรี เข้ามาทำงานดูแลความงามให้กับพระนางสุเทศนา พระมเหสีของท้าววิราฎ เมื่อสงครามบนทุ่งกุรุเกษตรเกิดขึ้น ยุธิษฐิระก็ได้เข้าร่วมการรบด้วย แต่ไม่ได้ตายในสงคราม เมื่อสงครามสิ้นสุด ก็ได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระจักรพรรดิกรุงหัสตินาปุระ แต่หลังจากนั้นปาณฑพเกิดความเบื่อหน่ายในชีวิตเพราะเห็นผลของสงคราม จึงยกบัลลังก์ให้ปรีกษิต หลานชายของอรชุน และพี่น้องปาณฑพกับนางเทราปตีก็ออกเดินป่า พร้อมกับสุนัขอีก 1 ตัว สุดท้ายพี่น้องปาณฑพทั้งสี่และนางเทราปตีก็สิ้นชีวิตลงและขึ้นสวรรค์บนยอดเขาหิมาลัย จากนั้นสุนัขที่ติดตามมาด้วยก็กลับกลายเป็นพระธรรมเทพ และพายุธิษฐิระขึ้นไปบนสวรรค์ (แต่ตอนนั้นยุธิษฐิระยังไม่ตาย และมีผู้กล่าวว่ายุธิษฐิระเป็นคนคนเดียวในโลกที่สามารถขึ้นไปยังยอดเขาหิมาลัยได้ทั้งเป็น) แต่กลับพบว่าทุรโยธน์นั่งครองบัลลังก์อยู่ แต่ปาณฑพและนางเทราปตีต้องตกนรกเพราะฆ่าพี่น้องของตน ยุธิษฐิระจึงตัดสินใจตกนรกด้วย จากนั้นพระธรรมเทพจึงบอกว่าทั้งหมดเป็นภาพลวงตา จริง ๆ แล้วเการพต้องตกนรก แต่ปาณฑพอยู่บนสวรรค์ ทั้งหมดที่ทำมาคือการทดสอบจิตใจของยุธิษฐิระ ยุธิษฐิระ พี่น้องปาณฑพและนางเทราปตีก็ได้อยู่บนสวรรค์ด้วยกันอย่างมีความสุขตลอดมา |