Share to: share facebook share twitter share wa share telegram print page

 

มุขนายก

พระคุณเจ้ายาโกเบ แจง เกิดสว่าง มุขนายกเกียรตินามแห่ง Barcusus และประมุขมิสซังจันทบุรี เป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับแต่งตั้งเป็นมุขนายก

บิชอป[1] (อังกฤษ: Bishop) หรือ มุขนายก[2][3] เป็นตำแหน่งการปกครองในคริสตจักรที่มีการจัดระเบียบองค์การแบบอิปิสโคปัล เช่น โรมันคาทอลิก อีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ ออเรียนทัลออร์ทอดอกซ์ หรือแม้แต่ในนิกายโปรเตสแตนต์บางคณะ เช่น แองกลิคัน ลูเทอแรน เมทอดิสต์

ประวัติ

ในศาสนาคริสต์ยุคแรก คริสต์ศาสนิกชนในแต่ละเมืองจะรวมกลุ่มกันเป็นประชาคม เรียกว่าคริสตจักร แต่ละคริสตจักรมีผู้ปกครองดูแลคนหนึ่งหรือเป็นคณะผู้ปกครอง จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 2 ผู้ปกครองดูแลคริสตจักรเริ่มมีบทบาทหน้าที่ชัดเจนขึ้น กล่าวคือ เป็นประธานในการโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์ แก้ไขความขัดแย้ง และดูแลการเงินภายในคริสตจักร ในคริสต์ศตวรรษที่ 4 ฝ่ายอาณาจักรได้รับรองสถานะของคริสต์ศาสนา ทำให้มุขนายกเริ่มมีบทบาทในทางโลกด้วย เมื่อคริสตชนมีมากขึ้น ทำให้มีมุขนายกใหม่แต่งตั้งขึ้นเพื่อปกครองแต่ละเขต ซึ่งต่อมาเรียกว่า "มุขมณฑล" มุขนายกประจำมุขมณฑลแต่งตั้งบาทหลวงให้ปกครองดูแลโบสถ์คริสต์แต่ละแห่ง โดยมีพันธบริกรเป็นผู้ช่วย[4]

นิกายคาทอลิก

คริสต์ศาสนิกชนโรมันคาทอลิกในประเทศไทยเรียกมุขนายกว่าพระสังฆราชกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยเลียนแบบการเรียกประมุขสงฆ์ของชาวไทยซึ่งใช้มาก่อนตั้งแต่สมัยสุโขทัย[5] ชาวคาทอลิกเชื่อว่ามุขนายกเป็นตำแหน่งที่สืบมาจากอัครทูตผู้ติดตามพระเยซูอย่างใกล้ชิดในสมัยที่พระองค์ยังคงดำรงพระชนม์ในโลกเมื่อ 2,000 ปีมาแล้ว มุขนายกทำหน้าที่เป็นประมุขคริสตจักรโรมันคาทอลิก เป็นหัวหน้าปกครองคณะบาทหลวง คณะนักบวชคาทอลิกชาย-หญิง และคริสต์ศาสนิกชนชาวคาทอลิกภายในเขตปกครองของตน[6] ซึ่งเรียกว่ามุขมณฑล โดยมุขมณฑลในประเทศไทยเรียกว่าเขตมิสซัง และแบ่งออกเป็น 11 เขตมิสซัง

ผู้จะรับศีลอนุกรมเป็นมุขนายกจะต้องบวชเป็นบาทหลวงมาก่อน และต่อมาได้รับการแต่งตั้งจากพระสันตะปาปาโดยมีพิธีการอภิเษกเป็นมุขนายกซึ่งถือเป็นศีลอนุกรมขั้นสูงสุด

ประเภทของมุขนายก

ตามประมวลกฎหมายพระศาสนจักรได้แบ่งมุขนายกออกเป็น 2 ประเภท[7] ดังนี้

  • มุขนายกเกียรตินาม (Titular bishop) หรือทิทิวลาร์บิชอป คือมุขนายกที่ไม่มีมุขมณฑลในปกครอง แต่ได้รับแต่งตั้งเป็นมุขนายกเพื่อเป็นเกียรติในการทำงานให้คริสตจักร มุขนายกประเภทนี้ได้แก่
    • มุขนายกผู้ช่วย (auxiliary bishop) หรืออ๊อกซิเลียรีบิชอป คือมุขนายกที่พระสันตะปาปาแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยของมุขนายกประจำมุขมณฑล เพื่อช่วยปกครองมุขมณฑลหนึ่ง ๆ และจะได้รับแต่งตั้งจากมุขนายกประจำมุขมณฑลนั้นให้เป็นอุปมุขนายก (vicar general) หรืออย่างน้อยก็เป็นผู้ช่วยมุขนายก (episcopal vicar) ในมุขมณฑลที่ตนประจำอยู่
    • มุขนายกรอง (coadjutor bishop) หรือโคแอดจูเตอร์บิชอป คือมุขนายกผู้ช่วยที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายเกือบเท่ามุขนายกประจำมุขมณฑล และยังมีสิทธิ์สืบตำแหน่งเป็นมุขนายกประจำมุขมณฑลองค์ต่อไป
    • มุขนายกกิตติคุณ (bishop emeritus) หรือบิชอปอิเมริทัส คือมุขนายกประจำมุขมณฑลที่ได้รับอนุมัติให้ลาออกจากตำแหน่งแล้ว (คือเกษียณตนเอง)

นอกจากนี้เหล่าประมุขมิสซังและเอกอัครสมณทูตก็ได้รับตำแหน่งเป็นมุขนายกเกียรตินามด้วย เพื่อให้มีเกียรติเสมือนมุขนายกประจำมุขมณฑล ตัวอย่างเช่น มุขนายก ฌ็อง-บาติสต์ ปาลกัว ประมุขมิสซังสยามได้เป็นมุขนายกเกียรตินามแห่งมาลลอส

ในประเทศไทย

เมื่อพระสันตะปาปาประกาศตั้งมิสซังสยามในปี พ.ศ. 2212 แล้ว ก็ได้ส่งมุขนายกเกียรตินามซึ่งล้วนแต่เป็นมิชชันนารีชาวฝรั่งเศสมาเป็นประมุขศาสนจักรโรมันคาทอลิกในประเทศไทย จนกระทั่ง วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2487 สมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 12 จึงประกาศแต่งตั้งมุขนายกเกียรตินามคนไทย คือ พระคุณเจ้ายาโกเบ แจง เกิดสว่าง ประมุขมิสซังจันทบุรี เป็นมุขนายกเกียรตินามแห่ง Barcusus[8] นับเป็นคนไทยคนแรกที่ได้ดำรงตำแหน่งมุขนายก[9]

ในปัจจุบันประเทศไทยมีมุขนายกมิสซังโรมันคาทอลิกที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ (ที่ยังไม่เกษียณ) 9 ท่าน ได้แก่[10]

7 เขตมิสซังนี้อยู่สังกัดภาคคริสตจักรเดียวกัน โดยมีอัครมุขนายกมิสซังโรมันคาทอลิกกรุงเทพฯเป็นมุขนายกมหานคร

4 เขตมิสซังนี้อยู่ในสังกัดภาคคริสตจักรเดียวกัน โดยมีอัครมุขนายกมิสซังโรมันคาทอลิกท่าแร่-หนองแสงเป็นมุขนายกมหานคร

และมีมุขนายกกิตติคุณ 8 ท่าน ได้แก่[13]

นิกายออร์ทอดอกซ์

ในคริสตจักรออร์ทอดอกซ์ ลำดับมุขนายกจะอยู่ 3 ลำดับขั้น โดยไม่นับอัครบิดร ซึ่งถือเป็นตำแหน่งสูงสุดของคริสตจักร โดยผู้ที่จะได้รับเลือกให้เป็นมุขนายกนั้นจำเป็นบาทหลวงที่ถือโสดเท่านั้น ในคริสตจักรออร์ทอดอกซ์จะมีมุขนายกอยู่ 3 ขั้น โดยบางครั้งมุขนายกในคริสตจักรออร์ทอดอกซ์ก็จะไม่มีเขตมุขมณฑลปกครอง โดยถือว่าทำงานให้กับคริสตจักรเพียงอย่างเดียว

อัครมุขนายก
ถือเป็นตำแหน่งสูงสุดของมุขนายกในคริสตจักรออร์ทอดอกซ์ (ในคริสตจักรรัสเซียออร์ทอดอกซ์, โรมาเนียออร์ทอดอกซ์ และบัลแกเรียออร์ทอดอกซ์ อัครมุขนายกไม่ถือว่าเป็นตำแหน่งที่สูงสุด) โดยในตำแหน่งนี้จะเป็นตำแหน่งที่ดูแลอัครมุขมณฑล (Archdiocese) แต่ในบางคริสตจักรที่ไม่มีอัครบิดร จะเป็นตำแหน่งที่ดูแลคริสตจักร เช่นคริสตจักรออร์ทอดอกซ์แห่งไซปรัส สำหรับในบางคริสตจักร ตำแหน่งนี้สามารถได้รับเลือกเป็นอัครบิดรได้
มุขนายกมหานคร
หรือ เมโตรโปลิตัน (Metropolitan) เป็นตำแหน่งที่รองลงมาจากตำแหน่งอัครมุขนายก (ในคริสตจักรรัสเซียออร์ทอดอกซ์, โรมาเนียออร์ทอดอกซ์ และบัลแกเรียออร์ทอดอกซ์ จะถือว่าเป็นตำแหน่งที่สูงกว่าอัครมุขนายก) สำหรับในตำแหน่งนี้ปกครองดูแลเขตมุขมณฑลมหานคร (Metropolis) ในคริสตจักรที่ถือว่าเมโตรโปลิตันเป็นตำแหน่งสูงสุด ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งนี้อาจได้รับเลือกให้เป็นอัครบิดรได้
มุขนายก
เป็นตำแหน่งแรกของระบบอิปิสโคปัล ในตำแหน่งนี้จะมีหน้าที่ดูแลมุขมณฑล (Diocese) สำหรับในตำแหน่งนี้อาจจะได้รับการเลื่อนขั้นเป็นเมโตรโปลิตัน หรืออัครมุขนายกตามเห็นควร

นิกายโปรเตสแตนต์

คริสต์ศาสนิกชนโปรเตสแตนต์ในประเทศไทยเรียก bishop โดยทับศัพท์ว่าบิชอป[14] ในนิกายลูเทอแรนและแองกลิคันถือว่าบิชอปเท่านั้นที่มีอำนาจในการสถาปนาบิชอป ปุโรหิต และดีกัน

ในนิกายลูเทอแรน บิชอปมาจากการเลือกตั้งโดยสมัชชาซีนอดซึ่งสมาชิกมีทั้งฆราวาสและนักบวช บิชอปแต่ละท่านมีวาระดำรงตำแหน่ง 6 ปี และดำรงตำแหน่งต่อไปได้ตามแต่ข้อกำหนดในธรรมนูญของคริสตจักรนั้น ๆ

นิกายแองกลิคัน บิชอปมีลักษณะคล้ายกับมุขนายกโรมันคาทอลิกคือทำหน้าที่เป็นประมุขของมุขมณฑล ต่างกันเฉพาะนิกายแองกลิคันอนุญาตให้บิชอปสมรสได้ นอกจากนี้บางภาคคริสตจักรยังอนุญาตให้สถาปนาสตรีเป็นบิชอปได้[15][16] สตรีคนแรกที่ได้สถาปนาบิชอปคือศาสนาจารย์บาร์บารา ฮาร์ริส[17] บิชอปซัฟฟรากันประจำมุขมณฑลอีปิสโคปัลแมสซาชูเซตส์ ได้รับสถาปนาเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1989

อ้างอิง

  1. ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, พิมพ์ครั้งที่ 3, 2552, หน้า 201
  2. กรมการศาสนา, รายงานการศาสนา ประจำปี ๒๕๔๓, กรมการศาสนา, 2543, หน้า 194-6
  3. ราชบัณฑิตยสถาน, หน้า 462
  4. "Episcopacy". สารานุกรมบริแทนนิกา. สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2558. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  5. "ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงด้านที่ 2". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-12-31. สืบค้นเมื่อ 2010-12-22.
  6. "พระสังฆราช (bishop) หรือมุขนายก" เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.เรียกข้อมูลวันที่ 1 ก.ย. 2553.
  7. Code of Canon Law, Can. 376
  8. Bishop Giacomo Luigi (James Louis) Cheng. The Hierarchy of the Catholic Church.(อังกฤษ)
  9. ความจริง 100 ประการเกี่ยวกับคาทอลิกไทย เก็บถาวร 2010-01-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เขตมิสซังเชียงใหม่
  10. "พระสังฆราชของประเทศไทยในปัจจุบัน" เก็บถาวร 2010-05-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เรียกข้อมูลวันที่ 1 กันยายน 2553.
  11. "สังฆมณฑลนครสวรรค์ - สภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย". 2021-01-09.
  12. "สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสประกาศแต่งตั้งประมุขแห่งสังฆมณฑลสุราษฎร์ธานี - สภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย". 2024-07-08.
  13. "พระสังฆราชกิตติคุณ" เก็บถาวร 2011-01-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.เรียกข้อมูลวันที่ 7 กรกฎาคม 2555
  14. ราชบัณฑิตยสถาน, หน้า 251
  15. "Female ordination in the Episcopal Church, USA (ECUSA)". Religioustolerance.org. 1976-09-16. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-22. สืบค้นเมื่อ 2010-11-19.
  16. Women bishops in the Church of England? By Church of England. House of Bishops (pg. 279)
  17. Barbara Harris. The Church Awakens African-Americans and the struggle for justice
Kembali kehalaman sebelumnya


Index: pl ar de en es fr it arz nl ja pt ceb sv uk vi war zh ru af ast az bg zh-min-nan bn be ca cs cy da et el eo eu fa gl ko hi hr id he ka la lv lt hu mk ms min no nn ce uz kk ro simple sk sl sr sh fi ta tt th tg azb tr ur zh-yue hy my ace als am an hyw ban bjn map-bms ba be-tarask bcl bpy bar bs br cv nv eml hif fo fy ga gd gu hak ha hsb io ig ilo ia ie os is jv kn ht ku ckb ky mrj lb lij li lmo mai mg ml zh-classical mr xmf mzn cdo mn nap new ne frr oc mhr or as pa pnb ps pms nds crh qu sa sah sco sq scn si sd szl su sw tl shn te bug vec vo wa wuu yi yo diq bat-smg zu lad kbd ang smn ab roa-rup frp arc gn av ay bh bi bo bxr cbk-zam co za dag ary se pdc dv dsb myv ext fur gv gag inh ki glk gan guw xal haw rw kbp pam csb kw km kv koi kg gom ks gcr lo lbe ltg lez nia ln jbo lg mt mi tw mwl mdf mnw nqo fj nah na nds-nl nrm nov om pi pag pap pfl pcd krc kaa ksh rm rue sm sat sc trv stq nso sn cu so srn kab roa-tara tet tpi to chr tum tk tyv udm ug vep fiu-vro vls wo xh zea ty ak bm ch ny ee ff got iu ik kl mad cr pih ami pwn pnt dz rmy rn sg st tn ss ti din chy ts kcg ve 
Prefix: a b c d e f g h i j k l m n o p q r s t u v w x y z 0 1 2 3 4 5 6 7 8 9