พื้นที่เชงเกน
เขตเชงเกน หรือ พื้นที่เชงเกน (อังกฤษ: Schengen Area) เป็นพื้นที่ที่ประกอบด้วย 29 รัฐในทวีปยุโรปซึ่งตกลงร่วมกันอย่างเป็นทางการเพื่อยกเลิกการใช้หนังสือเดินทางและการควบคุมบริเวณพรมแดนทุกประเภท โดยมีนโยบายการตรวจลงตรา (วีซ่า) ร่วมกันสำหรับการเดินทางระหว่างรัฐภาคี ตั้งชื่อตามความตกลงเชงเกนเมื่อปี 1985 ที่ลงนามที่เมืองเชงเกน ประเทศลักเซมเบิร์ก จากรัฐสมาชิกสหภาพยุโรป 29 รัฐ ยี่สิบเจ็ดรัฐเข้าร่วมเป็นภาคีของเขตเชงเกน ในส่วนของ 2 รัฐสมาชิกสหภาพยุโรปที่ยังไม่ได้เข้าร่วม ไซปรัสมีสิทธิและประสงค์ที่จะเข้าร่วมพื้นที่นี้ในอนาคต แต่อีกหนึ่งรัฐที่เหลือ คือ ไอร์แลนด์ เลือกที่จะไม่เข้าร่วมเขตเชงเกน (opt-outs) ในขณะเดียวกัน สี่ประเทศสมาชิกสมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) (ไอซ์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ นอร์เวย์ และสวิตเซอร์แลนด์) ที่แม้จะไม่ได้เป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป แต่ได้ลงนามในข้อตกลงเพื่อเป็นภาคีสมาชิกเขตฯ นอกจากนี้ รัฐขนาดเล็กในยุโรปอีกสามรัฐที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (โมนาโก ซานมาริโน และนครวาติกัน) แต่ถูกล้อมรอบหรือกึ่งล้อมรอบโดยประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปก็จัดว่าเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่เชงเกนโดยพฤตินัย เขตเชงเกนมีประชากรราว 450 ล้านคน ครบคลุมพื้นที่ 4,595,131 ตารางกิโลเมตร (1,774,190 ตารางไมล์)[2] ประชาชนประมาณ 1.7 ล้านคน เดินทางข้ามพรมแดนภายในของยุโรปในแต่ละวันเพื่อไปทำงาน บางแห่งนับเป็นหนึ่งในสามของจำนวนแรงงานทั้งหมดในพื้นที่นั้น ๆ ในแต่ละปีมีการข้ามพรมแดนเชงเกนทั้งหมด 1.3 พันล้านครั้ง โดยการข้ามพรมแดน 57 ล้านครั้งเกิดจากการขนส่งสินค้าทางถนน ที่มีมูลค่าปีละกว่า 2.8 ล้านล้านยูโร[3][4][5] โรมาเนียและบัลแกเรีย เป็นสองรัฐล่าสุดที่เข้าร่วมพื้นที่เชงเกน โดยได้รับการอนุมัติในวันที่ 30 ธันวาคม 2023 โดยเริ่มยกเลิกการตรวจด่านพรมแดนทางอากาศและทางน้ำมีผลในวันที่ 31 มีนาคม 2024[6][7] และเข้าสู่พื้นที่เชงเกนอย่างสมบูรณ์ตั้งแต่วันวันที่ 1 มกราคม 2025[8] อ้างอิง
|