Share to: share facebook share twitter share wa share telegram print page

 

พระสิงคาลมาตาเถรี

พระสิงคาลมาตาเถรี เป็นหนึ่งในภิกษุณีรูปสำคัญในสมัยพุทธกาล ได้รับการยกย่องจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้อยู่ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านศรัทธาวิมุตติ คือ ผู้หลุดพ้นกิเลสด้วยศรัทธา กล่าวคือ พระเถรีเพ่งพุทธานุสสติด้วยความศรัทธาอย่างแรงกล้า จนกระทั่งบรรลุเป็นพระอรหันต์

ประวัติ

ประวัติเกี่ยวกับชาติกำเนิดและอดีตชาติของพระสิงคาลมาตาเถรี มีปรากฏอยู่ในสิงคาลกสูตร และ "สิงคาลมาตาเถริยาปทานที่ ๔" ว่าด้วยบุพจริยาของพระสิงคาลมาตาเถรี โดยพระเถรี ได้เล่าเท้าความว่า

" ... ในกัปที่หนึ่งแสนแต่ภัทรกัปนี้ พระพิชิตมารผู้เป็นนายกของโลกพระนามว่าปทุมุตระ ทรงรู้จบธรรมทั้งปวงเสด็จอุบัติขึ้นแล้ว ครั้งนั้นดิฉันเกิดในสกุลอำมาตย์ที่รุ่งเรืองด้วยรัตนะต่างๆ เป็นตระกูลมั่งคั่ง เจริญ มีทรัพย์มาก ในพระนครหงสวดี ดิฉันมีมหาชนเป็นบริวารไปกับบิดา ได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าแล้วออกบวชเป็นภิกษุณี ครั้นบวชแล้ว เว้นบาปกรรมทางกาย ละวจีทุจริตชำระอาชีวะบริสุทธิ์ มีความเลื่อมใสเพราะเคารพมากในพระพุทธเจ้าพระธรรม และพระสงฆ์ ขวนขวายในการฟังธรรม มีความเห็นพระพุทธเจ้าเป็นปกติ ในครั้งนั้น ดิฉันได้ฟังภิกษุณีองค์หนึ่งซึ่งเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลาย ฝ่ายสัทธาธิมุติ จึงปรากฏตำแหน่งนั้นแล้วได้บำเพ็ญไตรสิกขา ครั้งนั้น พระสุคตเจ้าผู้มีพระอัธยาศัยประกอบด้วยกรุณา ตรัสกะดิฉันว่าบุคคลผู้มีศรัทธาไม่หวั่นไหว ตั้งมั่นดีในพระตถาคต มีศีลงามที่พระอริยะรักใคร่สรรเสริญ มีความเลื่อมใสในพระสงฆ์ มีความเห็นตรง นักปราชญ์เรียกผู้นั้นว่า เป็นผู้ไม่ขัดสน ชีวิตของผู้นั้นไม่เป็นหมัน เพราะฉะนั้น บุคคลผู้มีปัญญา เมื่อระลึกถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พึงหมั่นประกอบศรัทธา ศีล ความเลื่อมใสและความเห็นธรรม ดิฉันได้ฟังพระพุทธดำรัสนั้นแล้ว มีความเบิกบานใจ ได้ทูลถามถึงความปรารถนาดีของดิฉัน ครั้งนั้นพระสุคตเจ้าผู้นำชั้นพิเศษผู้มีปัญญาไม่ทราม มีพระคุณนับไม่ถ้วน ทรงพยากรณ์ว่าท่านเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า มีธรรมงาม จักได้ตำแหน่งนั้นที่ท่านปรารถนาดีแล้ว ... " [1]

ครั้นถึงกัปนี้ในยุคพุทธกาล พระสิงคาลมาตาเถรี เกิดในตระกูลเศรษฐี ในกรุงราชคฤห์ ได้แต่งงานกับชายหนุ่มผู้มีชาติตระกูลและทรัพย์เสมอกัน อยู่ครองเรือนจนมีบุตรหนึ่งคน บรรดาหมู่ญาติได้ตั้งชื่อบุตรชายของนางว่า “สิงคาลกุมาร” (หรือ สิงคาลกคฤหบดีบุตร ปรากฏเรื่องในสิงคาลกสูตร) ด้วยเหตุนี้ ชนทั้งหลายจึงเรียกนางว่า “สิงคาลมาตา” แปลว่า "แม่ของสิงคาล" สิงคาลกุมารครั้นเติบใหญ่ก็ไหว้ทิศทั้ง ๖ เป็นประจำวันหนึ่ง พระบรมศาสดาเสด็จออกจากพระวิหารเวฬุวันเข้าไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ ได้ทอดพระเนตรเห็นสิงคาลกุมารไหว้ทิศทั้ง ๖ พระองค์จึงตรัสถามถึงเหตุผล สิงคาลกุมารกราบทูลว่าไหว้ทิศตามบิดา ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นทางพ้นทุกข์ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงแสดงธรรมให้แก่เขา สิงคาลมาตาได้สดับพระธรรมเทศนาด้วย "ได้บรรลุโสดาปัตติผลแล้วออกบวชเป็นภิกษุณี" เมื่ออุปสมบทแล้วได้แลเห็นพระพุทธองค์เสมอ เกิดความชื่นชมใน "พระรูปเป็นที่เพลินตา เป็นพระรูปที่เกิดแต่พระบารมีทั้งปวง เป็นดังว่าเรือนหลวงที่ประกอบด้วยสิริมีพระลักษณะงามทั่วไป" ท่านจึงใช้ความชื่นชมในพระรูปนั้นเจริญพุทธานุสสติ ไม่นานก็ได้บรรลุอรหัตผล [2]

คุณวิเศษ

ด้วยความที่ท่านเจริญพุทธานุสสติจนบรรลุวิมุติธรรม สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงสถาปนา พระสิงคาลมาตาเถรี ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีสาวิกาทั้งหลายในฝ่ายศรัทธาวิมุตติ คือ ผู้หลุดพ้นกิเลสด้วยศรัทธา อีกทั้งยัง "มีความชำนาญในฤทธิ์ มีความชำนาญในทิพโสตธาตุมีความชำนาญในเจโตปริยญาณ ย่อมรู้ปุพเพนิวาสญาณและทิพจักษุอันหมดจดวิเศษ กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้ว " [3]

ทั้งนี้ พระสิงคาลมาตาเถรี เป็นที่เคารพบูชาในฐานะพระเถรีองค์สำคัญอย่างน้อย 31 รูปที่มีคุณวิเศษ เป็นเอตทัคคะด้านต่างๆ ในสมัยพุทธกาล ในยุคต่อมาเมื่อมีการรจนาคาถาอาราธนาคุณพระรัตนตรัย ก็ยังปรากฏนามและคุณวิเศษของพระเถรี สำหรับสวดประกาศให้เกิดสวัสดิมลคล เช่นในพระคาถาอุปปาตะสันติ ซึ่งแต่งในอาณาจักรล้านนา บทที่ ๑๘๔ ความว่า

คำบาลี

สิงคาละมาตา ภิกขุนี สัทธาธิมุตตานะมุตตะมา

กะโรตุ โน มะหาสันติง อาโรคฺยัญจะ สุขัง สะทา [4]

แปลไทย

ขอพระสิงคาลมาตาภิกษุณี ผู้เป็นเลิศกว่าภิกษุณีผู้น้อมไปด้วยศรัทธา

จงประทานความสงบอันยิ่งใหญ่ สุขภาพที่ดี และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายตลอดไป [5]

นอกจากนี้ ในสมัยรัตนโกสินทร์ ครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) ยังปรากฏภาพจิตรกรรมฝาผนังพร้อมแผ่นศิลาจารึกด้านทิศใต้ของวิหารพระพุทธไสยาสน์ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามฯ เป็นเรื่องพระสิงคาลมาตาเนื้อความใกล้เคียงกับที่ปรากฏในสิงคาลมาตาเถริยาปทานเพียงแต่ย่อให้สั้นกว่ามาก [6]

อ้างอิง

  1. พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๙ ภาค ๑ - หน้าที่ ๖๗๗ - ๖๗๙
  2. พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๙ ภาค ๑ - หน้าที่ ๖๗๙ - ๖๘๐
  3. พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๙ ภาค ๑ - หน้าที่ ๖๘๑
  4. บทสวดอุปปาตสันติ หน้า ๔๕
  5. บทสวดอุปปาตสันติ หน้า ๔๖
  6. จารึกเรื่องพระสาวิกาเอตทัคคะ แผ่นที่ ๑๒

บรรณานุกรม

  • พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๙ ภาค ๑
  • บทสวดอุปปาตสันติ (๒๕๕๒) พระคันธสาราภิวงศ์ วัดท่ามะโอ จังหวัดลำปาง
  • จารึกเรื่องพระสาวิกาเอตทัคคะ แผ่นที่ ๑๒ (พระกีสาโคตมี) และ ๑๓ (พระสิงคาลมาตา) ใน http://www.sac.or.th/databases/inscriptions/inscribe_image_detail.php?id=3240[ลิงก์เสีย]
Kembali kehalaman sebelumnya


Index: pl ar de en es fr it arz nl ja pt ceb sv uk vi war zh ru af ast az bg zh-min-nan bn be ca cs cy da et el eo eu fa gl ko hi hr id he ka la lv lt hu mk ms min no nn ce uz kk ro simple sk sl sr sh fi ta tt th tg azb tr ur zh-yue hy my ace als am an hyw ban bjn map-bms ba be-tarask bcl bpy bar bs br cv nv eml hif fo fy ga gd gu hak ha hsb io ig ilo ia ie os is jv kn ht ku ckb ky mrj lb lij li lmo mai mg ml zh-classical mr xmf mzn cdo mn nap new ne frr oc mhr or as pa pnb ps pms nds crh qu sa sah sco sq scn si sd szl su sw tl shn te bug vec vo wa wuu yi yo diq bat-smg zu lad kbd ang smn ab roa-rup frp arc gn av ay bh bi bo bxr cbk-zam co za dag ary se pdc dv dsb myv ext fur gv gag inh ki glk gan guw xal haw rw kbp pam csb kw km kv koi kg gom ks gcr lo lbe ltg lez nia ln jbo lg mt mi tw mwl mdf mnw nqo fj nah na nds-nl nrm nov om pi pag pap pfl pcd krc kaa ksh rm rue sm sat sc trv stq nso sn cu so srn kab roa-tara tet tpi to chr tum tk tyv udm ug vep fiu-vro vls wo xh zea ty ak bm ch ny ee ff got iu ik kl mad cr pih ami pwn pnt dz rmy rn sg st tn ss ti din chy ts kcg ve 
Prefix: a b c d e f g h i j k l m n o p q r s t u v w x y z 0 1 2 3 4 5 6 7 8 9