ณหทัย ทิวไผ่งาม
ดร.ณหทัย ทิวไผ่งาม นักวิชาการและนักการเมืองสตรีชาวไทย กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีในรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร[1] อดีตกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี [2] ในรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน และอดีตกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ผู้อำนวยการสถาบันเยาวชนเพื่อไทย อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาชาติ อดีตรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปี 2544[3] และ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร สังกัดพรรคไทยรักไทย ประวัติณหทัยเกิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2513 เป็นบุตรของณรงค์และอุษา ทิวไผ่งาม ผู้ก่อตั้งโรงเรียนทิวไผ่งาม ดร.ณหทัย มีชื่อเล่นว่าอ้อ มีน้องชายหนึ่งคนคือ ดร.ณัฐกฤษฎ์ ทิวไผ่งาม เธอนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก[4] ดร.ณหทัย ทิวไผ่งาม เข้าศึกษาในระดับปริญญาตรีที่ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขามัธยมศึกษา (มนุษยศาสตร์ - สังคมศาสตร์) เอกภาษาอังกฤษขั้นสูง หลังจากนั้นได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาโท สาขาบริหารการศึกษา และ ปริญญาเอก สาขาบริหารจัดการอุดมศึกษานานาชาติ ที่ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน สหรัฐอเมริกา การเมืองดร.ณหทัย ทิวไผ่งามเป็นที่รู้จักครั้งแรกในปี พ.ศ. 2544 เมื่อประกาศลงสมัครรับเลือกตั้งในสังกัดพรรคไทยรักไทย ในเขต 10 กรุงเทพมหานคร ซึ่งประกอบด้วยเขตห้วยขวางและเขตวัฒนา โดย ดร.ณหทัย เป็นที่โดดเด่นและถูกจับตามองอย่างมากจากสังคม โดยคู่แข่งคนสำคัญคือ อิสรา สุนทรวัฒน์ บุตรชายแสงชัย สุนทรวัฒน์ อดีต ผอ.อสมท จากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีภาพลักษณ์คนรุ่นใหม่เช่นเดียวกัน ผลการเลือกตั้งออกมา ปรากฏว่า ดร.ณหทัย มีคะแนนตามหลังนายอิสราเพียง 102 คะแนน ทำให้นายอิสรา ได้เป็น ส.ส.ในเขตนี้ไป ซึ่งต่อมาคณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีมติให้นับคะแนนของเขตเลือกตั้งนี้ใหม่เฉพาะในส่วนของบัตรเสียซึ่งมีจำนวนมากถึงเกือบสองพันใบ แต่หลังจากนั้น ดร.ณหทัย รับตำแหน่งเป็นรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ช่วงปี พ.ศ. 2544 - พ.ศ. 2547 ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข, โฆษกประจำกระทรวงพาณิชย์ ทั้งนี้ ในปี 2547 ได้รับการแต่งตั้งโดยมติครม. วันที่ 14ตุลาคม 2547 เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จากนั้น ในการเลือกตั้ง ปี พ.ศ. 2548 ดร.ณหทัย ได้ลงสมัครในเขตเดิมอีก พบกับคู่แข่งคนเดิมอีก และได้รับการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงกว่า 32,000 คะแนน และในช่วงปี พ.ศ. 2548 ดร.ณหทัย ได้รับคัดเลือกจาก World Economic Forum ให้เป็นหนึ่งในสมาชิกของ Young Global Leaders 2006 ในช่วงหลังจากการรัฐประหารในคืนวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 และพรรคไทยรักไทยถูกยุบในเวลาต่อมาจากคดีว่าจ้างพรรคเล็กลงเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 จากนั้นบทบาททางการเมืองของ ดร.ณหทัย ทิวไผ่งาม ก็ได้เงียบหายไป และได้ผันตัวมาดูแลสานต่อกิจการต่างๆ ของครอบครัวอย่างเต็มตัว โดยเป็นประธานที่ปรึกษา ของโรงเรียนทิวไผ่งาม ดูแลและพัฒนาโรงเรียน เป็นรุ่นที่ 2 ต่อจาก นายณรงค์ ทิวไผ่งาม และ นางอุษา ทิวไผ่งาม โดย มีน้องชายคือ ดร.ณัฐกฤษฎ์ ทิวไผ่งาม คอยดูแลด้วย ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 ดร.ณหทัย ทิวไผ่งาม กลับสู่สนามการเมืองระดับชาติอีกครั้งหลังจากที่วางมือไปนานกว่าสิบปี [5] และเป็นหนึ่งในบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อจากพรรคประชาชาติต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้เป็นนายกรัฐมนตรี [6] เธอดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคประชาชาติก่อนจะลาออกจากสมาชิกพรรคประชาชาติ และมาสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย[7] กระทั่งในวันที่ 26 กันยายน 2566 ระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรี ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแต่งตั้งให้เธอเป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศแต่งตั้ง[8] ณ วันที่ 4 ตุลาคม 2566 ให้เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีของรองนายกรัฐมนตรีภูมิธรรม เวชยชัย เครื่องราชอิสริยาภรณ์
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น |