Share to: share facebook share twitter share wa share telegram print page

 

การยึดกรุงไซ่ง่อน

การยึดกรุงไซ่ง่อน
ส่วนหนึ่งของ การรุกฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1975 แห่งสงครามเวียดนาม
วันที่30 เมษายน ค.ศ. 1975 (1975-04-30)
สถานที่
ไซ่ง่อน ประเทศเวียดนามใต้
(ปัจจุบันคือนครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม)
10°49′23″N 106°37′47″E / 10.8231°N 106.6297°E / 10.8231; 106.6297 (Saigon, South Vietnam (present-day Ho Chi Minh City, Vietnam))
ผล

ประเทศเวียดนามเหนือชนะ

คู่สงคราม
 เวียดนามเหนือ
รัฐบาลปฏิวัติชั่วคราวสาธารณรัฐเวียดนามใต้ เวียดกงและรัฐบาลปฏิวัติชั่วคราว
 เวียดนามใต้
สนับสนุนโดย:
 สหรัฐอเมริกา
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
เล สวน
หวอ เงวียน ซ้าป
หวั่น เตี๋ยง จุ๋ง
ทราน แวน ทรา
เลอ ดุ๊ค แองห์
เหงียน หั่ว อัน
เลอ ทรอง ตัน
เซือง วัน มิญ
หวู่ ฟาน เมา
เหงียน ฮู ฮันห์
เหงียน เฟื้อก วิน ห์ล็อก
เล เหงียน วี
แลม แวน พัต
ลี ตง บา
กำลัง
120,000 31,000
  1. เวียดนามเหนือและใต้รวมประเทศในชื่อสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1976 และรัฐบาลปฏิวัติชั่วคราวจึงถูกยุบไป

การยึดกรุงไซ่ง่อน (หรือเรียกว่า การเสียกรุงไซ่ง่อน โดยผู้สนับสนุนเวียดนามใต้[1][2] หรือ การปลดปล่อยไซ่ง่อน โดยผู้สนับสนุนเวียดนามเหนือ)[3] คือการยึดกรุงไซ่ง่อน เมืองหลวงของเวียดนามใต้ โดยกองทัพประชาชนเวียดนาม (PAVN) และแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติ ในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2518 เหตุการณ์นี้ทำให้สงครามเวียดนามสิ้นสุดลง และทำให้ช่วงถ่ายโอนอำนาจไปยังรัฐบาลเวียดนามเหนือเริ่มต้นขึ้น ทำให้เวียดนามทั้งสองฝ่ายกลับมารวมประเทศกันอีกครั้งอย่างเป็นทางการ[4]

กองกำลังเวียดนามเหนือที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของพลเอกอาวุโสหวั่น เตี๋ยง จุ๋ง เริ่มดำเนินการโจมตีกรุงไซ่ง่อนเป็นครั้งสุดท้าย โดยเริ่มจากการเปิดฉากระดมยิงอย่างหนักจากกองปืนใหญ่ของพลเอกเหวียน วัน ต่วนในวันที่ 29 เมษายน ในตอนบ่าย ทหารเวียดนามเหนือก็สามารถยึดจุดสำคัญ ๆ ภายในเมือง และเชิญธงชาติเวียดนามเหนือขึ้นเหนือทำเนียบประธานาธิบดีแห่งเวียดนามใต้ได้สำเร็จ หลังจากนั้นไม่นานเวียดนามใต้ก็ยอมจำนน กรุงไซ่ง่อนถูกเปลี่ยนชื่อเป็นนครโฮจิมินห์ ตามชื่อผู้นำการปฏิวัติคอมมิวนิสต์ โฮจิมินห์ โดยก่อนที่เมืองจะถูกยึด มีการอพยพบุคลากรอเมริกันแทบทั้งหมด ทั้งพลเรือนและทหารออกจากไซ่ง่อน อีกทั้งยังอพยพพลเรือนเวียดนามใต้อีกหลายหมื่นคนที่ทำงานให้กับรัฐบาลเวียดนามใต้ออกจากกรุงไปด้วย การอพยพครั้งนี้ริเริ่มปฏิบัติการฟรีเควียนท์วินด์ (Operation Frequent Wind) ซึ่งเป็นการอพยพทางเฮลิคอปเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์[5] เมื่อสิ้นสุดสงคราม หลังจากที่มีผู้อพยพลี้ภัยเป็นจำนวนมาก รัฐบาลคอมมิวนิสต์ได้ทำให้จำนวนประชากรของเมืองลดน้อยลงไปอีก ด้วยการให้ประชากรบางส่วนให้ไปอยู่นอกเมือง โดยการบังคับหรือเพื่อแลกกับอาหาร

ชื่อ

มีการตั้งชื่อเหตุการณ์นี้อย่างหลากหลาย โดยรัฐบาลเวียดนามมักจะเรียกเหตุการณ์นี้ว่า "วันปลดปล่อยภาคใต้เพื่อรวมชาติ" (Giải phóng miền Nam, thống nhất đất nước) หรือ "วันปลดปล่อย" (Ngày Giải Phóng) แต่รายงานตะวันตกมักเรียกเป็น "การเสียกรุงไซ่ง่อน" ชาวเวียดนามลี้ภัยไปยังประเทศอื่นหลายคนเรียกเหตุการณ์นี้เป็น "Ngày mất nước" (วันที่เราเสียประเทศ), "Tháng Tư Đen" (เมษาทมิฬ),[6][7][8][9][10][11] "วันแห่งความอัปยศของชาติ" (Ngày Quốc Nhục) หรือ "วันแห่งความขุ่นเคืองใจของชาติ" (Ngày Quốc Hận)[7][12][13][14][15]

ในประเทศเวียดนาม มีชื่อเรียกแบบเป็นกลางว่า "เหตุการณ์ 30 เมษายน ค.ศ. 1975" (Sự kiện 30 tháng 4 năm 1975) หรือสั้น ๆ ว่า "30 เมษาฯ" (30 tháng 4)

การรุกคืบของเวียดนามเหนือ

การที่ฐานที่ตั้งของเวียดนามใต้ถูกทำลายติดต่อกันอย่างรวดเร็วใน พ.ศ. 2518 ทำให้ผู้สังเกตการณ์ชาวอเมริกันและเวียดนามใต้ประหลาดใจเป็นอย่างยิ่ง และแม้แต่ฝ่ายเวียดนามเหนือและแนวร่วมเองก็ยังประหลาดใจ จากบันทึกข้อความที่เขียนโดยหน่วยสืบราชการลับกลางแห่งสหรัฐอเมริกา (CIA) กับหน่วยข่าวกรองของกองทัพบกที่ตีพิมพ์ในวันที่ 5 มีนาคมแจ้งว่าเวียดนามใต้จะยังสามารถรักษาอธิปไตยไว้ได้ไปตลอดฤดูแล้งฝน คือจนถึงอย่างน้อย พ.ศ. 2519 [16] การคาดการณ์นี้ผิดพลาดไปมาก เพราะในขณะที่บันทึกข้อความถูกปล่อยออกมา พลเอกจุ๋งก็กำลังเตรียมการรุกครั้งใหญ่ตรงบริเวณภูมิภาคที่ราบสูงภาคกลางของเวียดนามอยู่แล้ว ซึ่งการรุกครั้งนี้เริ่มขึ้นในวันที่ 10 มีนาคม และนำไปสู่การยึดเมืองบานเมทวด ทำให้กองทัพสาธารณรัฐเวียดนาม (ARVN) หรือกองทัพเวียดนามใต้ต้องล่าถอยไปอย่างวุ่นวายและได้รับความเสียหายมาก โดยตั้งใจที่จะวางกำลังใหม่ที่ทางตอนใต้สุดของเวียดนาม ซึ่งอาจเป็นดินแดนเวียดนามที่เหลือที่อยู่ทางใต้ของเส้นแวงที่ 13[17]

ด้วยการสนับสนุนจากปืนใหญ่และยานเกราะ ฝ่ายเวียดนามเหนือจึงสามารถเคลื่อนทัพรุกคืบมายังไซ่ง่อน โดยทำการยึดเอาหัวเมืองหลักๆ ของเวียดนามใต้ทางตอนเหนือไว้ได้ในช่วงสิ้นเดือนมีนาคม โดยสามารถยึดเมืองเว้ได้ในวันที่ 25 และเมืองดานังได้ในวันที่ 28 การรุกคืบหน้าทำให้ฝ่ายเวียดนามใต้ทัพแตกและทำให้เกิดคลื่นผู้อพยพ ซึ่งที่หนีมาจากดานังเมืองเดียวก็มีมากกว่า 300,000 คนแล้ว[18] โอกาสที่จะพลิกโอกาสตีโต้ของเวียดนามใต้จึงลดถอยลงไปทุกวัน และเมื่อหลังจากการเสียเมืองดานังแล้ว โอกาสเหล่านั้นก็แทบจะไม่เหลือเลย ซึ่งเจ้าหน้าที่ CIA ในเวียดนามก็เห็นเป็นเช่นนั้น และคิดว่าคงไม่มีอะไรนอกจากการใช้เครื่องบิน B-52 ทิ้งระเบิดใส่กรุงฮานอย ที่จะทำให้การบุกของเวียดนามเหนือชะงักลงได้[19]

ในวันที่ 8 เมษายน คณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเวียดนามเหนือ ที่แนะนำให้จุ๋งใช้ความระมัดระวังในเดือนมีนาคม ได้ส่งโทรเลขไปหาเขาเพื่อขอให้เขา "ทำการโจมตีอย่างไม่หยุดยั้งจนกว่าจะถึงใจกลางของไซ่ง่อน" [20] ในวันที่ 14 เมษายน ฝ่ายเวียดนามเหนือก็เปลี่ยนชื่อการทัพเป็น "การทัพโฮจิมินห์" ตามชื่อของผู้นำการปฏิวัติคอมมิวนิสต์ โฮจิมินห์ โดยตั้งใจว่าจะบรรลุเป้าหมายก่อนวันเกิดของโฮจิมินห์ในวันที่ 19 พฤษภาคม[21] ขณะเดียวกัน เวียดนามใต้ก็ล้มเหลวในการหาการสนับสนุนเพิ่มเติมทางทหารจากสหรัฐฯ ในระดับที่มีความสำคัญ ดับความหวังของประธานาธิบดีเหวียน วัน เตี่ยวที่จะได้รับการสนับสนุนอีกครั้งจากอเมริกา

ในวันที่ 9 เมษายน กองทัพเวียดนามเหนือก็มาถึงเขตซวนลค แนวป้องกันสุดท้ายก่อนจะถึงไซ่ง่อน ที่ๆ กองพลเวียดนามใต้ที่ 18 ยืนหยัดต่อสู้ทหารเวียดนามเหนืออย่างดุเดือดในยุทธการซวนลค อยู่หลายวันจนกระทั่งกองทัพเวียดนามเหนือสามารถใช้กำลังที่มีอยู่มหาศาล ยึดซวนลคได้สำเร็จในวันที่ 20 เมษายน และในวันที่ 21 เมษายน ประธานาธิบดีเตี่ยวแถลงการณ์ลาออกทางโทรทัศน์ทั้งน้ำตา พร้อมกับตำหนิสหรัฐฯ ที่ไม่ยอมมาช่วยเหลือเวียดนามใต้[22] แนวหน้าของฝ่ายเวียดนามเหนือในตอนนี้อยู่ห่างใจกลางกรุงไซ่ง่อนไปเพียง 42 กิโลเมตร[23] และชัยชนะที่ซวนลค ทำให้ทหารเวียดนามใต้เป็นจำนวนมากถอนกำลังออกไปจากพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง[23] เปิดทางให้กองทัพเวียดนามเหนือปิดล้อมกรุงไซ่ง่อน และในเวลาไม่นานพวกเขาก็ทำเช่นนั้น ด้วยการเคลื่อนกำลังพล 100,000 นายไปยังตำแหน่งรอบๆ เมืองในวันที่ 27 เมษายน ในเมื่อกองทัพเวียดนามใต้เองเหลือผู้ป้องกันเมืองหลวงเพียงเล็กน้อย อนาคตที่อยู่ข้างหน้าเมืองนี้ก็ชัดเจน

การอพยพออกจากเมือง

การรุกคืบอย่างรวดเร็วของเวียดนามเหนือในเดือนมีนาคมและต้นเมษายนทำให้เกิดความวิตกในไซง่อน ซึ่งเป็นเมืองที่เงียบสงบมาตลอดสงคราม และไม่ค่อยความลำบากใดๆ กับชาวเมือง กลับกลายเป็นเมืองที่กำลังจะถูกโจมตีโดยตรง[24] คนจำนวนมากกลัวว่าเมื่อฝ่ายคอมมิวนิสต์ยึดครองเมืองแล้ว จะเกิดการล้างแค้นด้วยเลือด เมื่อปี พ.ศ. 2511 กองกำลังผสมระหว่างกองทัพเวียดนามเหนือ และแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติ (เวียดกง) สามารถยึดครองเมืองเว้มาได้เกือบเดือน หลังจากที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ถูกตีโต้ออกไปจากเมือง กองกำลังอเมริกันและเวียดนามใต้ก็พบสุสานขนาดใหญ่ การศึกษาเพื่อเตรียมภารกิจของสหรัฐฯ ในเวียดนามระบุว่า ฝ่ายคอมมิวนิสต์พุ่งเป้าไปที่นายทหารเวียดนามใต้, ชาวแคทอลิก, ปัญญาชน, นักธุรกิจและผู้ที่ต้องสงสัยเป็นนักต่อต้านการปฏิวัติคนอื่นๆ[25] และก่อนการบุกไม่นาน ก็มีชาวอเมริกาแปดนายถูกจับตัวไปในเมืองบานเมอถวก พวกเขาหายตัวไปและมีข่าวมาถึงเมืองเว้และดานังว่าพวกเขาถูกตัดศีรษะหรือถูกประหารด้วยวิธีการอื่นๆ แต่รายงานดังกล่าวส่วนใหญ่ถูกปฏิเสธโดยโฆษณาสงครามของรัฐบาลเวียดนามใต้[26] ชาวอเมริกันและชาวตะวันตกเป็นจำนวนมากต้องการอพยพออกจากไซ่ง่อน ก่อนที่กรุงจะแตก ในขณะที่ชาวเวียดนามใต้ส่วนใหญ่ก็ต้องหนีออกจากเมืองเช่นกัน

เมื่อถึงตอนปลายเดือนมีนาคม ก็เริ่มมีชาวอเมริกันบางส่วนหนีออกจากเมืองบ้างแล้ว อย่างในวันที่ 31 มีนาคม[27] ก็มีกว่าสิบครอบครัวที่ออกจากเมือง เที่ยวบินออกจากไซ่ง่อน ซึ่งปกติมักจะไม่มีคนจองนั้นเต็มหมด[28] ตลอดเดือนเมษายน การอพยพเป็นไปอย่างเร่งรีบยิ่งขึ้น เมื่อสำนักงานประสานงานกลาโหม (DAO) เริ่มที่จะส่งบุคลากรที่ไม่สำคัญออกไปทางเครื่องบิน ชาวอเมริกันเป็นจำนวนมากที่เป็นผู้ประสานงานให้กับ DAO ปฏิเสธที่จะออกจากเมือง ถ้าไม่ได้นำเพื่อนและบริวารชาวเวียดนาม ซึ่งรวมไปถึงภรรยาตามกฎหมายและลูก การจะนำบุคคลเหล่านี้เข้าไปในสหรัฐอเมริกานั้นถือว่าผิดกฎหมาย ทำให้ DAO ไม่สามารถยินยอมตามข้อเรียกร้อง และทำให้อัตราการออกเมืองช้าลงไปเล็กน้อยในช่วงแรก แต่ท้ายที่สุดแล้วเมื่อ DAO ก็เริ่มส่งชาวเวียดนามที่ไม่มีเอกสารเข้าเมืองไปยังฐานทัพอากาศคลาร์คในฟิลิปปินส์อย่างผิดกฎหมาย[29]

ในวันที่ 3 เมษายน ประธานาธิบดีเจอรัลด์ อาร์. ฟอร์ดแห่งสหรัฐอเมริกา ก็ประกาศให้เริ่มปฏิบัติการเบบีลิฟท์ ซึ่งเป็นการอพยพเด็กกำพร้าประมาณ 2,000 คนออกมาจากประเทศ แต่เครื่องบิน C-5A กาแลคซี ลำหนึ่งที่เข้าร่วมปฏิบัติการเกิดตก ทำให้ผู้โดยสาย 138 คนเสียชีวิต และบั่นทอนกำลังใจของเจ้าหน้าที่อเมริกันอย่างมาก[30] นอกจากเด็กกำพร้า 2,000 คนที่ถูกอพยพในปฏิบัติการเบบีลิฟท์แล้ว ปฏิบัติการนิวไลฟ์ยังทำการอพยพชาวเวียดนามอีกกว่า 110,000 คน

แผนของรัฐบาลอเมริกันสำหรับการอพยพครั้งสุดท้าย

เมื่อรัฐบาลของ ปธน. ฟอร์ดเริ่มวางแผนที่จะอพยพบุคลากรอเมริกันทั้งหมดออกจากเวียดนาม ก็ต้องประสบกับความยุ่งยากในด้านการนำแผนไปปฏิบัติงาน อีกทั้งยังมีความกังวลเกี่ยวปัญหาทางยุทธศาสตร์และทางกฎหมาย คนในรัฐบาลเห็นไม่ตรงกันว่าควรจะดำเนินการอพยพเร็วแค่ไหน กระทรวงกลาโหมต้องการให้อพยพคนออกมาให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะมีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต และหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุอื่นๆ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำเวียดนามใต้ แกรห์ม มาร์ติน ซึ่งในทางเทคนิคแล้วจะต้องเป็นผู้ควบคุมการอพยพใดๆ ในภาคสนาม เนื่องจากการอพยพนั้นตกอยู่ในขอบเขตอำนาจของกระทรวงการต่างประเทศ มาร์ตินได้รับเสียงตำหนิจำนวนมากจากคนในกระทรวงกลาโหมเนื่องจากเขาต้องการให้การอพยพเป็นไปอย่างสงบและเป็นระเบียบมากที่สุด เพื่อป้องการไม่ให้เกิดความโกลาหล และลดความเป็นไปได้ของการที่ชาวเวียดนามใต้จะหันมาต่อต้านชาวอเมริกัน และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการนองเลือดอย่างไม่ยั้งมือ

ปธน. ฟอร์ดอนุมัติแผนที่เป็นทางสายกลาง โดยชาวอเมริกันทั้งหมด ลบ 1,250 คน (จำนวนที่ถูกลบคือจำนวนคนที่น้อยพอที่จะอพยพทางเฮลิคอปเตอร์ได้ภายในวันเดียว) จะถูกอพยพอย่างเร่งด่วน ส่วนอีก 1,250 คนทีเหลือจะอพยพก็ต่อเมื่อสนามบินถูกคุมคาม ระหว่างนั้น จะทำการอพยพชาวเวียดนามให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้[31]

ในขณะเดียวกัน มาร์ตินเริ่มทยอยปล่อยวีซ่าออกนอกประเทศมาเพื่ออนุญาตให้ทุกคนที่ต้องการจะออกจากกรุงไซ่ง่อน สามารถทำได้ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดๆ นอกจากนี้ มาร์ตินกับรองเอกอัครราชทูต วูลฟ์แกง เลห์แมน ยังเริ่มปล่อยให้ชาวเวียดนามใต้ออกนอกประเทศโดยไม่แจ้งกระทรวงกลาโหม

แผนการอพยพของอเมริกามีขึ้นทั้งที่ขัดแย้งกับนโยบายอื่นๆ ของรัฐบาล ปธน. ฟอร์ดยังหวังที่จะขอความช่วยเหลือทางทหารเพิ่มเติมให้กับเวียดนามใต้ได้ ตลอดทั้งเดือนเมษายน เขาพยายามที่จะขอให้รัฐสภาคองเกรสอนุมัติการจัดสรรงบประมาณ 722 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะนำไปใช้ในการฟื้นฟูกองกำลังเวียดนามใต้บางส่วนที่ถูกทำลายไป รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เฮนรี คิสซินเจอร์คัดค้านการอพยพเต็มรูปแบบตราบใดที่ตัวเลือกที่จะส่งความช่วยเหลือยังอยู่บนโต๊ะเจรจา เนื่องจากการถอนกำลังอเมริกันออกจะส่งสัญญาณออกไปว่า ปธน. เตี่ยวเสียความไว้วางใจของรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้อำนาจทางการเมืองของเขาอ่อนแอลงอย่างยิ่ง[32]

นอกจากนี้ ยังเกิดความกังวลภายในรัฐบาลว่าการใช้กำลังทหารเพื่อสนับสนุนการอพยพนั้นถูกกฎหมายหรือไม่ ภายใต้ข้อมติอำนาจยามสงครามที่เพิ่งผ่านเป็นกฎหมายออกมา ในที่สุด นักกฎหมายของรัฐบาลก็ตีความข้อกฎหมายออกมาได้ว่า การใช้กำลังทหารอเมริกันในการช่วยเหลือพลเรือนในยามฉุกเฉินนั้นไม่น่าจะฝ่าฝืนข้อกฎหมาย แต่ประเด็นว่าด้วยการใช้ทรัพยากรทางทหารเพื่ออพยพผู้ลี้ภัยนั้นไม่ทราบแน่ชัดว่าผิดกฎหมายหรือไม่[33] การอพยพออกจากกรุงไซ่ง่อนยังต้องแย่งทรัพยากรกับการอพยพที่กำลังเกิดขึ้นที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ซึ่งถูกยึดครองในวันที่ 17 เมษายน

ผู้อพยพ

ในขณะที่พลเมืองอเมริกันได้รับการรับรองว่าจะออกจากประเทศได้อย่างง่ายดาย แค่เพียงรายงานตัวที่ศูนย์อพยพ ชาวเวียดนามใต้ที่ต้องการออกจากไซ่ง่อนก่อนที่เมืองจะถูกยึด จำเป็นต้องไปหาทางกันเอาเอง การใช้เงินใต้โต๊ะเพื่อขอหนังสือเดินทางและวีซ่าออกนอกประเทศเพิ่มขึ้นถึงหกเท่าตัว และราคาของค่าขึ้นเรือออกทะเลเพิ่มขึ้นสามเท่า[34] ผู้ที่เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ในเมืองถูกบังคับให้ขายสินทรัพย์ในราคาที่ขาดทุนจากเดิมมา หรือไม่ก็ต้องทิ้งที่ดินไปเลย ราคาสอบถามของบ้านสวยหลังหนึ่งถูกหั่นลงไปร้อยละ 75 ภายในระยะเวลาสองสัปดาห์[35] วีซ่าอเมริกันมีมูลค่ามหาศาล และคนเวียดนามที่ต้องการได้ผู้อนุเคราะห์ชาวอเมริกันต่างก็ลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ นี่คือข้อความตัวอย่างจากโฆษณาเหล่านี้อันหนึ่ง "หาพ่อแม่บุญธรรม เด็กนักเรียนยากไร้ใจขยัน" ตามด้วยชื่อ, วันเกิดและเลขบัตรประจำตัวประชาชน[36]

ความเคลื่อนไหวทางการเมือง และความพยายามที่จะเจรจา

ในขณะที่เวียดนามเหนือรุกคืบเข้ามาในเวียดนามใต้เรื่อยๆ การต่อต้านปธน. เตี่ยวจากในประเทศก็เริ่มสะสม อย่างในเดือนเมษายน เมื่อวุฒิสภาลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์เพื่อแสดงท่าทีเรียกร้องให้มีการแต่งตั้งผู้นำคนใหม่ และผู้บัญชาการทหารระดับสูงสุดบางคนกดดันให้มีการก่อรัฐประหาร เพื่อลดแรงกดดัน ปธน. เตี่ยนจึงทำการเปลี่ยนแปลงคณะรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีเติ่น เตียน เฟียมก็ประกาศลาออก[37] การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ค่อยช่วยลดแรงต่อต้านต่อปธน. เตี่ยวสักเท่าไรนัก และในวันที่ 8 เมษายน นักบินชาวเวียดนามใต้ และสายลับให้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์เหวน ตันห์ ตรุง ได้ทำการลอบวางระเบิดทำเนียบประธานาธิบดี และหลบหนีไปทางลานบินของกองทัพเวียดนามเหนือ ปธน.เตี่ยนไม่ได้รับบาดเจ็บ[38]

คนจำนวนมากในคณะทูตของอเมริกา โดยเฉพาะมาร์ติน และบุคลากรสำคัญบางคนจากวอชิงตัน เชื่อว่าการเจรจากับฝ่ายคอมมิวนิสต์ยังเป็นไปได้ โดยเฉพาะถ้าไซ่ง่อนยังสามารถรักษาเสถียรภาพทางการทหารเอาไว้ได้ ท่านทูตมาร์ตินยังหวังไว้ว่าผู้นำของเวียดนามเหนือจะยินยอมให้ทหารอเมริกันค่อยๆ ถอนกำลังออกไปเป็นระยะๆ ซึ่งรวมไปถึงการอพยพชาวอเมริกันทั้งหมด และชาวเวียดนามที่มีประโยชน์ออกไป และถอนกำลังทหารทั้งหมดออกไป ภายในระยะเวลาหลายเดือน

มีความเห็นที่แตกต่างกันออกไปเกี่ยวกับผลที่เตี่ยวในฐานะผู้นำรัฐบาลมีต่อการแก้ปัญหาทางการเมือง[39] รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของรัฐบาลปฏิวัติเฉพาะกาลกล่าวในวันที่ 2 เมษายน ว่ารัฐบาลเฉพาะกาลอาจจะยอมเจรจากับรัฐบาลไซง่อนถ้ารัฐบาลนั้นไม่มีเตี่ยวอยู่ ทำให้แรงกดดันที่จะขับไล่เตี่ยวออกจากตำแหน่งเพิ่มขึ้น แม้แต่ในเหล่าผู้สนับสนุนของเตี่ยวเอง[40]

ประธานาธิบดีเตี่ยวประกาศลาออกในวันที่ 21 เมษายน โดยถ้อยแถลงลาออกของเขานั้นมีท่าทีที่ตำหนิรัฐบาลสหรัฐฯ มากเป็นพิเศษ โดยโทษสหรัฐฯ ที่บีบให้เวียดนามใต้ยอมลงนามในข้อตกลงสันติภาพปารีส และล้มเหลวในการสนับสนุนเวียดนามใต้ หลังจากที่เวียดนามใต้ยอมรับข้อตกลง ในขณะที่เรียกร้องให้เวียดนามใต้ "ทำในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เหมือนให้เอาหินไปถมทะเล"[41] ตำแหน่งประธานาธิบดีถูกส่งต่อไปให้กับรองประธานาธิบดีตรัน วัน เฮือง ความเห็นของฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่ได้รับการกระจายเสียงผ่านวิทยุฮานอย กล่าวว่ารัฐบาลใหม่ก็แค่รัฐบาลหุ่นกระบอกอีกชุดหนึ่งเท่านั้น[42]

ช่วงสุดท้าย

เวลาสำหรับทุกเหตุการณ์ตามเวลาไซ่ง่อน

ในวันที่ 27 เมษายน ไซง่อนถูกโจมตีจากจรวดของกองทัพเวียดนามเหนือ 3 ลูก เป็นจรวดชุดแรกในระยะกว่า 40 เดือน[23]

ปฏิบัติการฟรีเควียนท์วินด์

ผู้ลี้ภัยชาวเวียดนามใต้เดินทางมาถึงเรือรบของสหรัฐฯ ระหว่างปฏิบัติการฟรีเควียนท์วินด์

ก่อนรุ่งสางของวันที่ 29 เมษายน ท่าอากาศยานเตินเซินเญิ้ตถูกโจมตีจากจรวดและกระสุดปืนใหญ่หนัก ในการระดมยิงชุดแรก เครื่องบิน C-130R แห่งกองบินขนส่งทางอากาศเชิงกลยุทธที่ 314 ที่ถูกควบคุมโดยเจ้าหน้าที่จากกองบินขนส่งทางอากาศเชิงกลยุทธที่ 374 ที่บินมาจากฐานทัพอากาศคลาร์คในฟิลิปปินส์ถูกจรวดทำลายในขณะที่กำลังเคลื่อนที่ไปบนลานบินเพื่อรับผู้อพยพ นักบินและเจ้าหน้าที่สามารถอพยพออกมาจากเครื่องบินที่กำลังลุกไหม้ได้ทันเวลา และขึ้นเครื่องบิน C-130 อีกลำหนึ่งที่ลงจอดก่อนหน้านี้ออกจากสนามบิน การระดมยิงจรวดอย่างต่อเนื่องและเศษซากบนลานบินทำให้พลเอกโฮเมอร์ ดี. สมิธ ผู้ประสานงานกลาโหมในไซ่ง่อน แนะนำให้ท่านทูตมาร์ตินทราบว่าลานบินไม่เหมาะกับการใช้ และให้ดำเนินการอพยพฉุกเฉินทางเฮลิคอปเตอร์แทน[43]

ก่อนหน้านี้ ท่านทูตมาร์ตินตั้งใจเต็มที่ ที่จะใช้เครื่องบินปีกตรึงในการอพยพออกจากฐานทัพ แผนนี้ต้องเปลี่ยนอย่างกะทันหันระหว่างช่วงเวลาวิกฤต เมื่อนักบินเวียดนามใต้คนหนึ่งตัดสินใจที่จะเปลี่ยนฝ่าย และทิ้งระเบิดลงมาบนทางขึ้นเครื่องบินที่ยังไม่ถูกทำลายจากการระดมยิง

ภายใต้แรงกดดันจากคิสซิงเจอร์ มาร์ตินสั่งบังคับให้นาวิกโยธินที่คุ้มกันเขาอยู่พาเขาไปยังฐานทัพอากาศระหว่างที่มีการระดมยิงอยู่ เพื่อที่เขาสืบให้แน่ใจด้วยตนเอง หลังจากที่เห็นแล้วว่าการอพยพโดยใช้เครื่องบินปีกตรึงไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะสม (เป็นสิ่งที่มาร์ตินไม่อยากตัดสินใจ โดยที่ไม่ได้เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงเสียก่อน ในกรณีที่การอพยพโดยเฮลิคอปเตอร์ล้มเหลว) มาร์ตินจึงอนุญาตให้การอพยพโดยเฮลิคอปเตอร์เริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจัง

มีรายงานเข้ามาจากรอบนอกเมืองว่าฝ่ายเวียดนามกำลังเคลื่อนทัพเข้ามา[44] ในเวลา 10.48 น. มาร์ตินชี้แจงกับคิสซิงเจอร์ว่าเขาต้องการให้เริ่มดำเนินตามแผนอพยพฟรีเควียนท์วินด์ อีก 3 นาที คิสซิงเจอร์จึงออกคำสั่ง สถานีวิทยุอเมริกันเริ่มเล่นเพลงไวท์คริสต์มาส ของเออร์วิง เบอร์ลินต่อเนื่องกัน เพื่อเป็นสัญญาณให้บุคลากรอเมริกันเดินทางไปยังจุดอพยพในทันที[45]

นาวิกโยธินนายหนึ่งกำลังรักษาความปลอดภัย ในขณะที่เฮลิคอปเตอร์ลงจอดที่สำนักงานประสานงานกลาโหม (DAO)

ในแผนนี้ เฮลิคอปเตอร์รุ่น CH-53 และ CH-46 จะถูกใช้ในการอพยพคนอเมริกันและคนเวียดนามที่เป็นมิตรไปยังเรือ ซึ่งรวมไปถึงเรือในกองเรือรบที่ 7 ที่อยู่ในทะเลจีนใต้[46] ศูนย์อพยพหลักอยู่ที่สำนักงาน DAO ที่เตินเซินเญิ้ต รถโดยสารวิ่งตัดเมืองเพื่อรับผู้โดยสารและพาผู้โดยสารไปยังสนามบิน รถโดยสารชุดแรกมาถึงเตินเซินเญิ้ตก่อนเที่ยงตรงไม่นานนัก เฮลิคอปเตอร์ CH-53 ลำแรกลงจอดที่สำนักงาน DAO ในตอนบ่าย และเมื่อถึงตอนเย็น ชาวอเมริกัน 395 คน และชาวเวียดนามกว่า 4,000 คนได้รับการอพยพ เมื่อถึงเวลา 23.00 น. นาวิกโยธินสหรัฐฯ ที่ให้การคุ้มกัน เริ่มถอนกำลังออกและจัดการเตรียมระเบิดทะลายสำนักงาน DAO รวมไปถึงอุปกรณ์, เอกสาร, และเงินของฝ่ายอเมริกัน เฮลิคอปเตอร์ UH-1 ของสายการบินแอร์อเมริกายังมีส่วนร่วมในการอพยพอีกด้วย.[47]

แผนการอพยพดั้งเดิมนั้นไม่ได้รวมการอพยพขนานใหญ่ที่สถานเอกอัคราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำกรุงไซ่ง่อน แต่มอบหมายให้เฮลิคอปเตอร์และรถโดยสารขนย้ายคนจากสถานทูตไปยังสำนักงาน DAO อย่างไรก็ตาม ระหว่างการอพยพ มีคนติดอยู่สถานทูตอยู่หลายพันคน ซึ่งมีรวมไปถึงชาวเวียดนามเป็นจำนวนมาก และยังมีพลเรือนชาวเวียดนามที่อยู่ข้างนอกสถานทูตพยายามปีนกำแพงเข้ามา โดยหวังที่จะได้สถานะผู้ลี้ภัย พายุฝนที่กระหน่ำลงทำให้ปฏิบัติการโดยใช้เฮลิคอปเตอร์ยุ่งยากขึ้นไปอีก แต่การอพยพคนจากสถานทูตก็ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงเย็นและกลางคืน

ในเวลา 3.45 น. ของวันที่ 30 เมษายน การอพยพผู้ลี้ภัยหยุดชะงักลง ก่อนหน้านี้ท่านทูตมาร์ตินยังคงสั่งให้ชาวเวียดนามใต้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปกับคนอเมริกัน แต่คิสซิงเจอร์และฟอร์ดสั่งให้มาร์ตินอพยพเฉพาะคนอเมริกันเท่านั้นจากจุดนี้ไป

มาร์ตินประกาศอย่างไม่เต็มใจว่าให้อพยพเฉพาะคนอเมริกันตั้งแต่นี้เป็นต้นไป เนื่องจากกังวลว่าฝ่ายเวียดนามเหนือจะยึดเมืองได้เสียก่อน และเนื่องจากรัฐบาล ปธน. ฟอร์ดต้องการให้ดำเนินการอพยพชาวอเมริกันให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว[48] ฟอร์ดยังสั่งให้มาร์ตินขึ้นเฮลิคอปเตอร์อพยพด้วย

แบบจำลองสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงไซ่ง่อน บันไดขึ้นดาดฟ้าที่เห็นในแบบจำลอง ตัวจริงถูกจัดแสดงถาวรอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ประธานาธิบดีเจรัลด์ อาร์ ฟอร์ด ในแกรนด์แรพิดส์, มิชิแกน

รหัสเรียกเฮลิคอปเตอร์ลำนั้นคือ "เลดี้เอซ 09" โดยเจรี เบอร์รี นักบินเฮลิคอปเตอร์ได้รับคำสั่งโดยตรงจากประธานาธิบดีฟอร์ด ให้พาเอกอัครราชทูตมาร์ตินขึ้นมาบนเครื่องให้ได้ โดโรธี ภรรยาของท่านทูตมาร์ตินถูกอพยพไปก่อนหน้านี้แล้ว และทิ้งกระเป๋าเอกสารส่วนตัวของเธอเพื่อให้ผู้หญิงชาวเวียดนามใต้เบียดขึ้นมาบนเครื่องได้

เลดี้เอซ 09 จากกองบินโรเตอร์เอียงขนาดกลางแห่งนาวิกโยธินที่ 165 ที่มีเบอร์รีเป็นนักบิน ออกบินเวลาประมาณ 5.00 น. ถ้ามาร์ตินปฏิเสธที่จะขึ้นเครื่อง ทหารนาวิกโยธินได้รับคำสั่งพิเศษให้จับกุมเขาและพาเขาออกไปเพื่อให้แน่ใจว่าเขาจะปลอดภัย[49] การอพยพสถานทูตสามารถอพยพชาวอเมริกัน 978 คน และชาวเวียดนามอีก 1,100 คน นาวิกโยธินที่คุ้มกันสถานทูตตามออกมาเมื่อรุ่งสาง โดยเฮลิคอปเตอร์ลำสุดท้ายออกมาตอน 7.53 น. มีคนเวียดนาม 420 คนถูกทิ้งไว้ในสถานทูต[50] และยังมีฝูงชนที่รวมตัวกันอยู่นอกกำแพงอีก

ชาวอเมริกันและผู้ลี้ภัยที่ถูกพาออกไป สามารถอพยพออกไปได้โดยไม่ถูกแทรกแซงจากทั้งเวียดนามเหนือและใต้ นักบินเฮลิคอปเตอร์ที่กำลังมุ่งหน้าไปยังเตินเซินเญิ้ตทราบดีว่าปืนต่อสู้อากาศยานของกองทัพเวียดนามเหนือกำลังจับเป้าอยู่แต่ไม่ยิง เนื่องจากฝ่ายบริหารจากฮานอยรู้ว่าความสำเร็จของการอพยพจะช่วยลดความเสี่ยงที่ฝ่ายอเมริกันจะกลับมาแทรกแซง และได้ให้คำสั่งกับจุ๋งอย่างชัดเจนว่าไม่ให้โจมตีการอพยพทางอากาศ[51] ในขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจในไซ่ง่อนได้รับการสัญญาว่าจะถูกอพยพออกเพื่อแลกเปลี่ยนกับการคุ้มกันรถโดยสารที่ขนผู้อพยพของอเมริกา และควบคุมฝูงชนภายในเมืองระหว่างการอพยพ[52]

แม้ว่านี่จะเป็นจุดสิ้นสุดของปฏิบัติการอพยพของอเมริกา ชาวเวียดนามยังคงพยายามออกนอกประเทศทางเรือและทางอากาศถ้าเป็นไปได้ นักบินชาวเวียดนามใต้ที่สามารถเข้าถึงเฮลิคอปเตอร์ได้บินออกนอกชายฝั่งไปยังกองเรือรบอเมริกัน ที่ๆ เขาสามารถลงจอดได้ คนที่หนีออกจากเวียดนามใต้ยังด้วยวิธีนี้รวมไปถึงพลเอกเหวน เกา เก่ เฮลิคอปเตอร์ของเวียดนามใต้ส่วนใหญ่ที่ลงจอดบนเรืออเมริกันถูกทิ้งลงทะเลเพื่อเปิดทางบนดาดฟ้าเรือให้กับเฮลิคอปเตอร์ลำอื่น[52] นอกจากนี้ยังมีเครื่องบินขับไล่และเครื่องบินขนาดเล็กอื่นๆ ที่ลงจอดบนเรือบรรทุกเครื่องบินอเมริกันอีกด้วย[53]

ท่านทูตมาร์ตินบินออกจากสถานทูตไปยังเรือ ยูเอสเอส บลูริดจ์ ที่ซึ่งเขาขอร้องให้เฮลิคอปเตอร์กลับไปยังสถานทูตเพื่อรับผู้ที่ยังหวังจะลี้ภัยอีกสองสามร้อยคน แต่คำร้องของเขาถูกประธานาธิบดีฟอร์ดปฏิเสธ ถึงกระนั้น มาร์ตินยังสามารถโน้มน้าวให้กองเรือรบที่เจ็ดอยู่กับที่อีกหลายวันเพื่อรอคนเวียดนามที่อาจหนีมาได้ทางเรือหรือเครื่องบิน เพื่อให้ทหารอเมริกันที่รออยู่ช่วยเหลือ

ชาวเวียดนามเป็นจำนวนมากที่อพยพออกมาได้รับอนุญาตให้เข้ามาอาศัยในสหรัฐอเมริกาภายใต้รัฐบัญญัติช่วยเหลือผู้ลี้ภัยและการอพยพจากอินโดจีน

หลายทศวรรษต่อมา เมื่อรัฐบาลสหรัฐฯ กำลังมาสานความสัมพันธ์ทางการทูตกับเวียดนามอีกครั้ง สถานทูตประจำกรุงไซ่ง่อนก็ถูกส่งคืนให้กับสหรัฐฯ ขั้นบันไดที่นำไปสู่เฮลิคอปเตอร์บนดาดฟ้าถือเป็นวัตถุที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และถูกนำไปจัดแสดงอย่างถาวรที่พิพิธภัณฑ์ประธานาธิบดีเจอรัลด์ อาร์ ฟอร์ดในเมืองแกรนด์แรพิดส์ รัฐมิชิแกน

การยอมจำนนของฝ่ายเวียดนามใต้

ในเวลา 6.00 น. ของวันที่ 29 เมษายน พลเอกจุ๋งได้รับคำสั่งจากคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์ (โพลิตบูโร) "ให้โจมตีด้วยความมุมานะสูงสุดเพื่อเข้าไปสู่ฐานที่มั่นสุดท้ายของศัตรู"[54]

ในตอนเช้าของวันที่ 29 เมษายน ยังมีเฮลิคอปเตอร์ของสายการบินแอร์อเมริกาเป็นจำนวนมากที่ยังอยู่ในเตินเซินเญิ้ต หลังเวลา 7.35 น. ไม่นานนัก เฮลิคอปเตอร์ UH-1 เป็นจำนวนเริ่มบินออกจากลานจอดบนดาดฟ้ารอบเมือง ไปยังเรือรบของกองทัพเรือสหรัฐฯ ที่อยู่นอกชายฝั่ง เครื่องบินปีกตรึงแต่ละลำมีนักบินประจำเครื่อง แต่เพราะเกิดความสับสน นักบินเป็นจำนวนมากจึงไม่สามารถเดินไปถึงสนามบินได้ เรืออากาศเอกอี.จี. อะดัมส์ได้รับมอบหมายให้เป็นนักบินของเครื่องบินที่ชื่อว่าโวลพาร์ บีช และจะเป็นนักบินคนที่สุดท้ายที่จะออกจากลานจอดของแอร์อเมริกา (บุคลากรคนอื่นอพยพไปยังศูนย์บัญชาการช่วยเหลือทางทหารหมดแล้ว) และยังมีเครื่องบิน C-46 ที่เต็มไปด้วยผู้อพยพจอดอยู่ อะดัมส์ขึ้นเครื่องบินและเป็นเครื่องบินปีกตรึงลำสุดท้ายที่บินออกจากไซ่ง่อนในการอพยพ

หลังจากทำการยิงถล่มและค่อยๆ รุกคืบเข้าไปเป็นเวลาหนึ่งวัน ฝ่ายเวียดนามเหนือก็พร้อมที่จะทำการบุกตะลุยครั้งใหญ่เข้าไปในเมือง ในช่วงเช้าของวันที่ 30 เมษายน จุ๋งได้รับคำสั่งจากโพลิตบูโรให้โจมตี เขาจึงสั่งให้ผู้บัญชาการภาคสนามเคลื่อนทัพตรงไปยังสาธารณูปโภคสำคัญและจุดยุทธศาสตร์ในเมือง[55] หน่วยของกองทัพเวียดนามเหนือหน่วยแรกที่เข้าไปในเมืองคือกองร้อยที่ 324[56] ประธานาธิบดีดูง วัน มินห์แห่งเวียดนามใต้ ที่เพิ่งดำรงตำแหน่งมาได้สามวัน ออกแถลงการณ์ยอมจำนนเมื่อเวลา 10.24 น. และขอให้กองกำลังเวียดนามใต้ "หยุดต่อสู้ อยู่ในความสงบ และไม่เคลื่อนพลไปไหน" และเชิญรัฐบาลปฏิวัติเฉพาะกาลมาร่วม "พิธีถ่ายโอนอำนาจอย่างเป็นระเบียบเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียเลือดเนื้อของประชากรอย่างไม่จำเป็น"[57]

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายเวียดนามเหนือไม่สนใจที่จะเจรจาเพื่อครอบครองเมืองอย่างสันติ และใช้กำลังเข้ายึดเมือง และจับกุมมินห์ ประตูทำเนียบอิสรภาพถูกทำลายโดยรถถังของกองทัพเวียดนามเหนือขณะที่กำลังเข้าไป และธงเวียดกงถูกเชิญขึ้นเหนือทำเนียบในเวลา 11.30 น. ในเวลา 15.30 น. มินห์กระจายเสียงไปทางวิทยุ โดยแถลงว่า "ข้าพเจ้าประกาศรัฐบาลไซ่ง่อนสิ้นสุดลงในทุกระดับขั้น" การล่มสลายของรัฐบาลเวียดนามใต้จึงถือเป็นการยุติสงครามเวียดนามอย่างมีประสิทธิผล

หลังการยึด

ไซ่ง่อนเปลี่ยนมือ

ฝ่ายคอมมิวนิสต์เปลี่ยนชื่อเมืองเป็นนครโฮจิมินห์ ตามชื่อของอดีตประธานาธิบดีเวียดนามเหนือ แต่ตัวชื่อเองไม่ค่อยถูกใช้นัก นอกจากในธุระทางการ[58] ความสงบค่อยๆ กลับคืนมา แม้ว่ากิจการและธุรกิจเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงสถานทูตสหรัฐฯ ที่ถูกทิ้งร้างจะถูกปล้นไปหมดแล้ว ในขณะการติดต่อสื่อสารสู่โลกภายนอกถูกตัด ฝ่ายคอมมิวนิสต์พบว่า กลไกของพรรคคอมมิวนิสต์ในเวียดนามใต้นั้นอ่อนแอลงไป ส่วนหนึ่งก็เนื่องจากโครงการฟีนิกซ์ของ CIA ที่กำจัดเวียดกงไปเป็นจำนวนมาก กองทัพเวียดนามเหนือจึงทำหน้าที่ในการรักษาความสงบแทน พลเอกเตรียน วัน ตรา รองของพลเอกจุ๋ง ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการชั่วคราว[56] ทางการคอมมิวนิสต์ใหม่จัดงานเดินขบวนฉลองชัยชนะในวันที่ 7 พฤษภาคม[59]

ตามข้อมูลของรัฐบาลฮานอย ชาวเวียดนามใต้มากกว่า 200,000 คน ซึ่งประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่รัฐและทหารถูกส่งไปยัง "ค่ายอบรมใหม่" ที่ๆ พวกเขาต้องเผชิญกับทารุณกรรม, โรคภัยไข้เจ็บและความอดอยาก[60]

จุดมุ่งหมายอีกข้อหนึ่งของรัฐบาลคอมมิวนิสต์คือการลดจำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ในไซ่ง่อน ซึ่งกลายเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยคนที่เพิ่งเข้ามาอาศัยอยู่ระหว่างช่วงสงครามเป็นจำนวนมาก ทำให้มีมีปัญหาประชากรหนาแน่นเกินไปและมีอัตราการว่างงานสูง รัฐบาลทำการจัดตั้งชั้นเรียนเพื่ออบรมใหม่ให้กับอดีตทหารเวียดนามใต้ ที่ระบุให้นักเรียนย้ายออกจากเมืองไปทำกสิกรรมเพื่อแลกกับการได้รับสถานะพลเมืองของสังคมคืนมา มีการแจกข้าวให้กับคนยากจนเพื่อแลกกับสัญญาที่จะออกจากไซ่ง่อนไปยังชนบท ตามข้อมูลของรัฐบาล ภายในสองปีของการยึดเมือง มีคนย้ายออกจากไซ่ง่อนหนึ่งล้านคน[58]

วันที่ 30 เมษายนถูกจัดให้เป็นวันรวมประเทศ หรือวันปลดแอก (Ngày Giải Phóng) ซึ่งถือเป็นวันนักขัตฤกษ์ในเวียดนาม อย่างไรก็ตาม วันที่เวียดนามรวมประเทศกันอย่างเป็นทางการคือวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2519

การประเมินผลการอพยพ

มีการถกเถียงกันว่าการอพยพถือเป็นความสำเร็จหรือไม่ หลังจากสิ้นสุดสงคราม ปฏิบัติการฟรีเควียนท์วินด์ได้รับการประเมินโดยทั่วว่าเป็นความสำเร็จในระดับน่าพึงพอใจ แม้แต่หวั่น เตี๋ยง จุ๋งยังยอมรับในหนังสือบันทึกความทรงจำของเขา และหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์สกล่าวว่าการอพยพถูกจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพและกล้าหาญ[61] แต่ก็มีการตำหนิว่าการอพยพทางอากาศนั้นช้าเกินไปและไม่เด็ดขาด ทำให้อพยพประชาชนและทหารชาวเวียดนาม ที่ร่วมงานกับสหรัฐฯ ได้ไม่มากพอ

เอกอัครราชทูตมาร์ตินไม่สนใจคำตำหนิและกล่าวโทษ และไม่อธิบายแรงจูงใจใดๆ ของสิ่งที่เขาทำไปให้สื่อรับฟัง การกระทำของมาร์ตินสามารถตีผลออกได้สองด้าน ด้านหนึ่งเขาคือคนที่ยอมให้คนเวียดนามใต้ที่อาจจะหนีไม่พ้น หนีไปได้ แต่อีกด้านหนึ่ง เขาก็เป็นคนที่ทิ้งให้ชาวเวียดนามอีกหลายพันคนที่เหลือไม่สามารถหนีรอดไปได้ การอพยพอาจทำให้เกิดความตื่นตระหนก ซึ่งอาจทำให้ต้องสูญเสียชีวิตคนอเมริกัน หรืออาจเป็นไปในทางตรงกันข้าม อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ตอนเริ่มการอพยพ ประธานาธิบดีฟอร์ดและเฮนรี คิสซิงเจอร์คำนึงถึงเพียงแค่การอพยพบุคลากรอเมริกันที่สำคัญอยู่แล้ว

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ประมาณการว่ามีลูกจ้างชาวเวียดนามที่ทำงานให้กับสถานทูตสหรัฐฯ ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน โดยรวมครอบครัวของพวกเขาไปด้วย มีจำนวนถึง 90,000 คน ในคำให้การของมาร์ตินต่อรัฐสภา เขายืนยันว่ามีการอพยพลูกจ้างเหล่านั้นออกไปเพียง 22,294 คนเท่านั้นในช่วงปลายเดือนเมษายน[62] มีผู้ร่วมงานชาวเวียดนามเป็นหมื่นๆ คน ที่ทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ของสหรัฐฯ ทั้งกระทรวงการต่างประเทศ, CIA, กองทัพ รวมไปถึงนายทหารอีกจำนวนมากที่เสี่ยงต่อการล้างแค้น และชะตากรรมของพวกเขานั้น ไม่มีผู้ใดทราบ

การรำลึก

วันที่ 30 เมษายน เป็นวันปลดแอก หรือ วันรวมประเทศ และถือเป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์ในเวียดนาม โดยผู้ทำงานจะได้หยุดควบกับวันที่ 1 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันแรงงานสากล และจะมีการจัดงานเฉลิมฉลองทั่วประเทศ

แต่สำหรับผู้ลี้ภัยชาวเวียดนามในสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ แล้ว สัปดาห์ของวันที่ 30 ถูกเรียกว่าเมษาฯ ทมิฬ และถือว่าวันนี้เป็นรำลึกถึงการเสียกรุงไซ่ง่อน[63] มีการตีความเมษาฯ ทมิฬในหลายรูปแบบ บ้างก็บอกว่าเป็นวันที่เป็นสัญลักษณ์แห่งการทอดทิ้งของชาวอเมริกัน[64] หรือเป็นวันที่เป็นอนุสรณ์แห่งสงครามและการอพยพครั้งใหญ่ที่ตามมา

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. Lam, Andrew (29 April 2015). "Op-Ed: Is it Liberation Day or Defeat Day in Saigon?". Los Angeles Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 February 2016. สืบค้นเมื่อ 13 February 2016.
  2. Austin, Lewis C. (1 October 1976). "Giai Phong! The Fall and Liberation of Saigon, by Tiziano Terzani". Foreign Affairs. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 February 2016. สืบค้นเมื่อ 13 February 2016.
  3. Long, Ngo Vinh (1993). "Post-Paris Agreement Struggles and the Fall of Saigon". ใน Werner, Jayne Susan; Huynh, Luu Doan (บ.ก.). The Vietnam War: Vietnamese and American Perspectives. M.E. Sharpe. p. 204. ISBN 9780765638632.; Thap, Nguyen Thi (2012). "Returning to my Home Village". ใน Dutton, George; Werner, Jayne; Whitmore, John K. (บ.ก.). Sources of Vietnamese Tradition. Columbia University Press. pp. 547–53. ISBN 9780231511100.
  4. Walsh, Kenneth T. (30 April 2015). "The U.S. and Vietnam: 40 Years After the Fall of Saigon". U.S. News & World Report. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 November 2018. สืบค้นเมื่อ 3 November 2018..
  5. Dunham and Quinlan, 202.
  6. "Black April". Los Angeles Times. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 December 2013. สืบค้นเมื่อ 7 December 2013.
  7. 7.0 7.1 "Black April". UNAVSA Knowledge. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 December 2013. สืบค้นเมื่อ 7 December 2013.
  8. "April 30th 1975, betrayed and abandoned". vnafmamn.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 November 2013. สืบค้นเมื่อ 7 December 2013.
  9. Secretary of State. "Assembly Concurrent Resolution No. 220 Chapter 74 Relative to Black April Memorial Week". Legislative Counsel's Digest. California Legislative Information. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 December 2013. สืบค้นเมื่อ 7 December 2013.
  10. Kurhi, Eric (30 April 2013). "Black April ceremony honors Vietnam War soldiers in San Jose". San Jose Mercury News. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 December 2013. สืบค้นเมื่อ 7 December 2013.
  11. Bharath, Deepa (29 April 2011). "O.C. Black April events commemorate fall of Saigon". Orange County Register. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 December 2013. สืบค้นเมื่อ 7 December 2013.
  12. Bharath, Deepa (25 April 2008). "Black April events commemorate fall of Saigon". Orange County Register. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 May 2009. สืบค้นเมื่อ 28 May 2009.
  13. "Audio Slideshow: Black April". Los Angeles Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 May 2009. สืบค้นเมื่อ 28 May 2009.
  14. Trần, Mỹ-Thuận (30 April 2009). "Orange County's Vietnamese immigrants reflect on historic moment". Los Angeles Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 May 2009. สืบค้นเมื่อ 28 May 2009.
  15. Dzũng, Đỗ (30 April 2009). "Tưởng niệm Tháng Tư Đen ở Quận Cam". Báo Người Việt. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 May 2009. สืบค้นเมื่อ 28 May 2009.
  16. Todd, 433.
  17. Tanner, 303.
  18. Dawson, xiii.
  19. Snepp, 280.
  20. Todd, 248.
  21. Todd, 249.
  22. NEWS.BBC.co.uk BBC on this Day | 21 | 1975: Vietnam's President Thieu resigns.
  23. 23.0 23.1 23.2 Dawson, xv.
  24. Weinraub.
  25. Pike.
  26. Tanner, 312.
  27. Dawson, xiv.
  28. Butterfield.
  29. Snepp, 312.
  30. Dunham and Quinlan, 157; Snepp, 304
  31. Kissinger, 540-1.
  32. Snepp, 330.
  33. Snepp, 303.
  34. Snepp, 352.
  35. Brown, 318.
  36. Todd, 311.
  37. Snepp, 287
  38. Snepp, 316.
  39. Snepp, 289.
  40. Snepp, 319
  41. Todd, 296.
  42. Todd, 298.
  43. Smith.
  44. Tanner, 313.
  45. Todd, 353.
  46. Accounts of Operation Frequent Wind can be found in Spencer (s.v. "FREQUENT WIND, Operation"), Todd (346-387), and Isaacs.
  47. Esper, George, "Copters Ending Vietnam Era", The Washington Star, Washington, D.C., Tuesday April 29, 1975, page A-1.
  48. Todd, 366.
  49. Todd, 367.
  50. Isaccs บอกจำนวนของชาวเวียดนามที่ถูกปล่อยทิ้งไว้ อยู่ที่ 420 คน
  51. Snepp, 478.
  52. 52.0 52.1 Tanner, 314.
  53. Todd, 370.
  54. Todd, 347.
  55. Snepp, 551.
  56. 56.0 56.1 Snepp, 568.
  57. Associated Press, "Minh Surrenders, Vietcong In Saigon".
  58. 58.0 58.1 Dawson, 351.
  59. Dawson, xvi.
  60. Snepp, 569.
  61. New York Times, "The Americans Depart".
  62. Snepp, 565.
  63. "News: Black April events commemorate fall of Saigon | april, black, saigon, little, vietnam - OCRegister.com". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-05-18. สืบค้นเมื่อ 2012-05-03.
  64. "Black April 30th 1975". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-03. สืบค้นเมื่อ 2012-05-03.

อ่านเพิ่ม

แหล่งข้อมูลอื่น

Kembali kehalaman sebelumnya