Share to: share facebook share twitter share wa share telegram print page

 

กลอน

กลอน เป็นลักษณะคำประพันธ์ไทยที่ฉันทลักษณ์ประกอบด้วยลักษณะบังคับ 3 ประการคือ คณะ จำนวนคำ และสัมผัส[1] ไม่มีบังคับเอกโทและครุลหุ[2] เชื่อกันว่าเป็นคำประพันธ์ท้องถิ่นของไทยแถบภาคกลางและภาคใต้ โดยพิจารณาจากหลักฐานในวรรณกรรมทั้งวรรณกรรมลายลักษณ์(เป็นตัวหนังสือ) และวรรณกรรมมุขปาฐะ(เป็นคำพูดที่บอกต่อกันมาไม่มีการจดบันทึก) โดยวรรณกรรมที่แต่งด้วยกลอนเก่าแก่ที่สุดคือ เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา และเพลงยาว ณ พระที่นั่งจันทรพิศาล กวีแต่งในสมัยอยุธยาตอนปลาย ก่อนหน้านั้นกลอนคงอยู่ในรูปแบบวรรณกรรมมุขปาฐะเป็นร้อยกรองชาวบ้านเช่น บทร้องเล่น บทกล่อมเด็ก เพลงชาวบ้าน เป็นต้น

กลอนมารุ่งเรืองในยุครัตนโกสินทร์ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีกวีสำคัญๆ ได้แก่ องค์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สุนทรภู่ กรมหลวงวรวงศาธิราชสนิท ฯลฯ โดยเฉพาะสุนทรภู่ เป็นกวีที่ทำให้ฉันทลักษณ์กลอนพัฒนาถึงระดับสูงสุด มีความลงตัวทางฉันทลักษณ์ทำให้กลอนลีลาแบบสุนทรภู่ได้รับการยอมรับว่าเป็นแบบฉบับของกลอนที่ไพเราะที่สุดและนิยมแต่งจนถึงปัจจุบัน[1]

การจำแนกกลอน

กลอนจำแนกตามฉันทลักษณ์

ฉันทลักษณ์ของกลอนในวรรณกรรมจำแนกได้ 5 ประเภทคือ จำแนกตามจำนวนคำ จำแนกตามคำขึ้นต้น จำแนกตามคณะ จำแนกตามบทขึ้นต้นและจำแนกตามการส่งสัมผัส

  1. จำแนกตามจำนวนคำ จะแบ่งได้ 2 ชนิดคือ
    1. กลอนกำหนดจำนวนคำเท่ากันทุกวรรค (กลอนสุภาพ) ได้แก่ กลอนสี่ กลอนหก กลอนเจ็ด กลอนแปด และกลอนเก้า
    2. กลอนกำหนดจำนวนคำในวรรคโดยประมาณ ได้แก่ กลอนดอกสร้อย กลอนสักวา กลอนเสภา กลอนบทละคร กลอนนิราศ กลอนเพลงยาว กลอนนิทาน และกลอนชาวบ้าน
  2. จำแนกตามคำขึ้นต้น จะแบ่งได้ 2 ชนิดคือ
    1. กลอนบังคับคำขึ้นต้น ได้แก่ กลอนดอกสร้อย กลอนสักวา กลอนเสภาและกลอนบทละคร
    2. กลอนไม่บังคับคำขึ้นต้น ได้แก่ กลอนสี่ กลอนหก กลอนเจ็ด กลอนแปด กลอนเก้า กลอนนิราศ กลอนนิทาน และกลอนเพลงยาว
  3. จำแนกตามคณะ จะแบ่งได้ 2 ชนิดคือ
    1. กลอนไม่ส่งสัมผัสระหว่างคณะ ได้แก่ กลอนดอกสร้อย และกลอนสักวา
    2. กลอนส่งสัมผัสระหว่างคณะ ได้แก่ กลอนบทละคร กลอนเสภา กลอนนิทาน กลอนนิราศ กลอนเพลงยาว กลอนสี่ กลอนหก กลอนเจ็ด กลอนแปด และกลอนเก้า
  4. จำแนกตามบทขึ้นต้น จะแบ่งได้ 2 ชนิดคือ
    1. กลอนบังคับบทขึ้นต้นเต็มบท (4 วรรค) ได้แก่ กลอนสี่ กลอนหก กลอนเจ็ด กลอนแปด กลอนเก้า กลอนดอกสร้อย กลอนสักวา กลอนเสภา และกลอนบทละคร
    2. กลอนบังคับบทขึ้นต้นไม่เต็มบท (3 วรรค) ได้แก่ กลอนนิราศ กลอนเพลงยาว และกลอนนิทาน
  5. จำแนกตามการส่งสัมผัส จะแบ่งได้ 2 ชนิดคือ
    1. กลอนส่งสัมผัสแบบกลอนสุภาพ ได้แก่ กลอนสี่ กลอนหก กลอนเจ็ด กลอนแปด กลอนเก้า กลอนดอกสร้อย กลอนสักวา กลอนเสภา กลอนนิทาน กลอนนิราศ กลอนเพลงยาว และกลอนบทละคร
    2. กลอนส่งสัมผัสแบบกลอนชาวบ้าน
      1. กลอนส่งสัมผัสแบบกลอนสังขลิก ได้แก่ กลอนในบทร้องเล่นของเด็ก
      2. กลอนส่งสัมผัสแบบกลอนหัวเดียว ได้แก่ กลอนเพลงชาวบ้าน เช่น เพลงเรือ ลำตัด เพลงอีแซว เป็นต้น

กลอนสังขลิกและกลอนหัวเดียว ปรากฎเฉพาะในร้อยกรองมุขปาฐะ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กลอนชาวบ้าน

กลอนจำแนกตามวัตถุประสงค์การนำไปใช้

แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ

  1. กลอนอ่าน เป็นกลอนที่ผู้แต่งมีจุดมุ่งหมายแต่งไว้สำหรับอ่านเพื่อความเพลิดเพลิน แบ่งเป็น 8 ชนิด ได้แก่ กลอนนิราศ กลอนเพลงยาว กลอนนิทาน กลอนสี่ กลอนหก กลอนเจ็ด กลอนแปด และกลอนเก้า
  2. กลอนร้อง เป็นกลอนที่แต่งขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายสำหรับการขับโต้ตอบกัน การขับลำนำเพื่อความไพเราะ และการขับร้องประกอบการแสดงเพื่อความบันเทิง แบ่งเป็น 5 ชนิด ได้แก่ กลอนดอกสร้อย กลอนสักวา กลอนเสภา กลอนบทละคร และกลอนเพลงชาวบ้าน

ประดิษฐการทางฉันทลักษณ์ของกลอน

ในสมัยอยุธยา กลอนที่แพร่หลายคือ กลอนเพลงยาว และกลอนบทละคร ต่อมามีกวีที่ศึกษาฉันทลักษณ์ของกลอนและประดิษฐ์ฉันทลักษณ์ใหม่ ๆ ขึ้นมาอย่างหลากหลายคือ หลวงศรีปรีชา (เซ่ง) ซึ่งประดิษฐ์กลอนกลบทถึง 86 ชนิด ไว้ใน กลบทศิริวิบุลกิตติ ซึ่งเป็นต้นแบบกลอนสี่ กลอนหก กลอนเจ็ด กลอนแปด และกลอนเก้า รวมทั้งกลอนนิทาน

ในสมัยรัตนโกสินทร์ รองอำมาตย์เอก หลวงธรรมาภิมณฑ์ (ถึก จิตรกถึก) (พ.ศ. 2401 - พ.ศ. 2471) กวีคนสำคัญในสมัยรัชกาลที่ 5 - 6 ได้แต่ตำราคำประพันธ์ ประชุมลำนำ โดยพัฒนาฉันทลักษณ์ของกลอนให้มีรูปแบบหลากหลายขึ้น ซึ่งได้กำหนดรูปแบบ บท และ ลำนำ ขึ้น โดยให้ บท เป็นกลอนที่มีคำขึ้นต้น ส่วน ลำนำ เป็นกลอนที่มีจำนวนคำวรรคคี่และวรรคคู่ไม่เท่ากัน หากกลอนที่มีลักษณะทั้งสองรวมกันจะเรียกว่า บทลำนำ นอกจากนี้ยังได้ค้นคว้าฉันทลักษณ์ของกลอนสุภาพและกลอนชาวบ้านอย่างละเอียด และได้จำแนกกลอนต่าง ๆ อย่างพิสดาร ได้แก่ กลอนสุภาพ บทกลอนสุภาพ ลำนำกลอนสุภาพ บทลำนำกลอนสุภาพ กลอนสังขลิก บทกลอนสังขลิก ลำนำกลอนสังขลิก บทลำนำกลอนสังขลิก กานต์ บทกานต์ ลำนำกานต์ และบทลำนำกานต์ แต่เสียดายที่ ประชุมลำนำ ซึ่งเสร็จในปี พ.ศ. 2470 ไม่ได้ถูกนำออกมาเผยแพร่ จนกระทั่งสำนักนายกรัฐมนตรีได้พิมพ์ออกเผยแพร่ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2514 เป็นเหตุให้คำประพันธ์ชนิดต่าง ๆ ของหลวงธรรมาภิมณฑ์ไม่แพร่หลายเท่าที่ควร

พัฒนาการของกลอน

พัฒนาการด้านรูปแบบ

ในสมัยอยุธยากลอนเพลงยาว และกลอนบทละครยังครองความนิยมด้วยจำนวนคำ และการส่ง-รับสัมผัสไม่เคร่งครัดนัก จนกระทั่งหลวงศรีปรีชาได้ริเริ่มประดิษฐ์กลอนที่มีจำนวนคำเท่ากันทุกวรรคขึ้น และประสบความสำเร็จสูงสุดในสมัยสุนทรภู่ ก่อให้เกิดการจำแนกกลอนออกเป็น 2 ประเภทคือ กลอนสุภาพ ที่มีจำนวนคำเท่ากันทุกวรรค และกลอนที่กำหนดจำนวนคำในวรรคโดยประมาณ เช่น กลอนเพลงยาว กลอนบทละคร กลอนเสภา เป็นต้น

ในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) กลอนเพลงยาว กลอนบทละคร และกลอนเสภาเริ่มเสื่อมความนิยมลง กลอนที่มีจำนวนคำเท่ากันทุกวรรคเพิ่มบทบาทมากขึ้น เนื่องด้วยเป็นกลอนอเนกประสงค์ ไม่จำกัดด้วยคำขึ้นต้น คำลงท้าย หรือการนำไปใช้

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) กวีมีการพัฒนากลอนหก กลอนเจ็ด รวมถึงรูปแบบกลอนเพลงชาวบ้านมาใช้ในวรรณกรรม ในยุคนี้เริ่มมีการใช้เครื่องหมายวรรคตอนมาใช้ในกลอน เพื่อแสดงอารมณ์ ความรู้สึก หรือกำหนดจังหวะในการอ่าน

นอกจากนี้ กวียังเคร่งครัดการแต่งกลอนให้ลงจำนวนคำ จังหวะและสัมผัสตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดด้วย เช่นกลอนหก วรรคละ 6 คำ 3 จังหวะ (2-2-2) รับสัมผัสในคำที่ 2 หรือ กลอนแปด วรรคละ 8 คำ 3 จังหวะ (3-2-3) รับสัมผัสคำที่ 3 ความนิยมดังกล่าวทำให้เกิดรูปแบบการแต่งกลอนโดยแบ่งเป็น 3 ตอน ในแต่ละวรรค เพื่อกำหนดจังหวะในการอ่าน ตัวอย่าง

แม่นวลโสม โฉมเฉิด เลิศมนุษย์
บริสุทธิ์ สงวนศักดิ์ น่ารักเหลือ
เป็นคู่ชีพ ของชาย หมายจุนเจือ
เพราะเลือดเนื้อ เชื้อโฉลก โลกมาตา
"โลกมาตา" ของ ครูเทพ

พัฒนาการด้านกลวิธีในการแต่ง

จังหวะ

กลอนสมัยอยุธยา ไม่เคร่งครัดทั้งรูปแบบ จังหวะ และเสียงของถ้อยคำ ตัวอย่างเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา

จะกล่าวถึงกรุงศรีอยุธยา
เป็นกรุงรัตนราชพระศาสดา มหาดิเรกอันเลิศล้น
เป็นที่ปรากฏรจนา สรรเสริญอยุธยาทุกแห่งหน
ทุกบุรียสีมามณฑล จบสกลลูกค้าวานิช
ทุกประเทศสิบสองภาษา ย่อมมาถึงกรุงศรีอยุธยาเป็นอัคะนิด
ประชาราษฎร์ปราศจากไภยพิศม์ ทั้งความพิกลจริตและความทุกข์

กวีสมัยรัตนโกสินทร์ได้พัฒนากลวิธีการแต่งให้มีวรรคละ 3 จังหวะสม่ำเสมอ และบังคับตำแหน่งรับสัมผัสตำแหน่งที่แน่นอน ตัวอย่างจากนิราศพระบาทของสุนทรภู่

ประจวบจนสุริยนเย็นพยับ ไม่ได้ศัพท์เซ็งแซ่ด้วยแตรสังข์
มีระนาดฆ้องกลองประโคมดัง ระฆังหงั่งหงั่งหง่างลงครางครึม
มโหรีปี่ไฉนจับใจแจ้ว วิเวกแว่วกลองโยนตะโพนกระหึ่ม
ทุกที่ทับสัปปุรุษก็พูดพึม รุกขาครึ้มครอบแสงพระจันทร
เสนาะเสียงเทศนาปุจฉาถาม ในสนามเสียงสนั่นเนินสิงขร
เป็นวันบัณสีรวีวร พระจันทรทรงกลดรจนา

การเลือกเสียงของถ้อยคำ

การเลือกเสียงของคำท้ายวรรค กวีในสมัยรัตนโกสินทร์ได้มีการพัฒนาการเลือกเสีงคำลงท้ายวรรคเพื่อช่วยให้ลีลาของกลอนมีความไพเราะรื่นหูยิ่งขึ้น โดยในประชุมลำนำ ได้กล่าวถึงลักษณะบังคับเสียงท้ายวรรคของกลอนไว้ว่า ...มีบังคับไตรยางศในที่สุดของกลอนรับให้ใช้แต่อักษรสูง อย่าให้ใช้อักษรกลางแลอักษรต่ำที่เป็นสุภาพ ในที่สุดของกลอนรองแลกลอนส่งนั้นให้ใช้แต่อักษรกลางแลอักษรต่ำ นอกนั้นไม่บังคับ นอกจากนี้ยังอธิบายการใช้วรรณยุกต์ท้วยวรรคเพิ่มเติมว่า

กลอนที่วรรคส่ง ลงท้ายด้วยรูปวรรณยุกต์ เอกหรือโท เรียกว่า ระลอกทับ เช่น
เอาดวงดาราระยับกับพระจันทร์ ต่างช่อชั้นชวาลระย้าย้อย
กลอนที่วรรครับ หรือวรรครอง ลงท้ายด้วยวรรณยุกต์ เอกหรือโท เรียกว่า ระลอกฉลอง เช่น
จักจั่นหวั่นแว่วแจ้วแจ้วเสียง เหมือนสำเนียงขับครวญหวนละห้อย
พระพายเอ๋ยเชยมาต้องพระน้องน้อย เหมือนนางคอยหมอบกราบอยู่งานพัด

เสียงของคำในวรรค มีการเพิ่มความไพเราะด้วยการเลือกใช้สัมผัสสระ และสัมผัสอักษร ตลอดจนการใช้คำที่มีเสียงหนักเบา

กลวิธีอื่น ๆ ได้แก่ การซ้ำคำ (ยมก) การแยกคำข้ามวรรค (ยัติภังค์) การซ้ำพยัญชนะท้ายวรรคแรกกับต้นวรรคถัดไป (นิสสัย) การซ้ำพยัญชนะท้ายวรรคแรกกับคำที่สองของวรรคถัดไป (นิสสิต) การไม่ใช้สัมผัสเลือนหรือสัมผัสซ้ำ การกำหนดหลักเกณฑ์การใช้วรรณยุกต์เสียงท้ายวรรคต่าง ๆ [3] ว่าท้ายวรรคสดับใช้ได้ทั้งห้าเสียง ท้ายวรรครับห้ามเสียงสามัญนิยมเสียงจัตวา ท้ายวรรครองห้ามเสียงจัตวานิยมใช้เสียงสามัญ เป็นต้น ทำให้กลอนกลายเป็นคำประพันธ์ที่มีฉันทลักษณ์ค่อนข้างตายตัว

ความคลี่คลายของกลอนสู่สมัยปัจจุบัน

ฉันทลักษณ์ของกลอนพัฒนาถึงระดับสูงสุดระหว่างสมัยรัชกาลที่ 6 และสมัยรัชกาลที่ 7[4] เนื่องจากเทคโนลียีการพิมพ์ช่วยให้ความรู้ต่างๆ กระจายตัวมากขึ้น มีการตีพิมพ์ตำราแต่งคำประพันธ์และใช้เป็นแบบเรียนด้วย ทำให้เกิดแบบแผนการประพันธ์ที่อยู่ในกรอบเดียวกัน ดังนั้น งานกลอนในระหว่าง พ.ศ. 2486 - พ.ศ. 2516 จึงอยู่ในกรอบของฉันทลักษณ์ และพราวด้วยสัมผัสตามตำราอย่างเคร่งครัด

ความคลี่คลายของจำนวนคำและการใช้สัมผัสใน หลัง พ.ศ. 2516 ประเทศอยู่ในภาวะผันผวนทางการเมือง กลอนรูปแบบเดิมไม่สามารถถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึกแห่งยุคสมัยได้ กวีจึงได้เลือกใช้กลอนที่กำหนดจำนวนคำในวรรคโดยประมาณ ลดสัมผัสสระมาใช้สัมผัสอักษร ลดความเคร่งครัดเสียงวรรณยุกต์ท้ายวรรค ใช้เสียงหนัก-เบา สั้น-ยาว มาสื่ออารมณ์ความรู้สึก เลือกใช้คำง่าย ๆ แทนโวหารเก่าๆ ตลอดจนฟื้นฟูฉันทลักษณ์กลอนชาวบ้านมาใช้ในร้อยกรองมากขึ้น เช่น "กินดิน กินเมือง" ของ ประเสริฐ จันดำ หรือ "เพลงขลุ่ยผิว" ของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เป็นต้น

ความคลี่คลายของจังหวะและสัมผัสนอก กวีบางคนเช่น อังคาร กัลยาณพงศ์ และ ถนอม ไชยวงศ์แก้ว เสนอกลอนที่จำนวนคำและจังหวะในวรรคไม่สม่ำเสมอ ตลอดจนรับสัมผัสไม่สม่ำเสมอทุกวรรค ตัวอย่าง โลก ดาราจักร และพระพุทธเจ้า ของ อังคาร กัลยาณพงศ์

ณ เวิ้งวิเวกเอกภพมหึมา และ ณ ดาราจักรอันหลากหลาย
จะหาหล้าไหนวิเศษแพร้วพรรณราย ได้ดุจโลกมนุษย์สุดยากนัก ฯ
เกียรติยศ ลม ไฟ ดิน น้ำ ฟ้า พาหิรากาศห่อหุ้มไว้สูงศักดิ์
น่าทะนุถนอมค่าทิพย์แท้อนุรักษ์ ประโยชน์หนักนั่นไซร้ให้สากล ฯ

ความคลี่คลายด้านรูปแบบ กวีสมัยปัจจุบันเสนอผลงานกลอนหลากหลายรูปแบบ จัดเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรก ยึดฉันทลักษณ์กลอนประเภทต่างๆ เช่นของเดิม แต่ปรับกลวิธีใช้สัมผัสใน และยืดหยุ่นจำนวนคำ เป็นการย้อนรอยฉันทลักษณ์ของกลอนยุคก่อนสุนทรภู่ ได้แก่ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, สุจิตต์ วงษ์เทศ, ประกาย ปรัชญา, ประเสริฐ จันดำ, ไพรวรินทร์ ขาวงาม เป็นต้น กลุ่มที่สองใช้เฉพาะสัมผัสนอกเป็นกรอบกำหนดประเภทงานว่าอยู่ในจำพวกกลอน ส่วนจำนวนคำ กลวิธี และท่วงทำนองอื่น ๆ เป็นไปโดยอิสระ ได้แก่ อังคาร กัลยาณพงศ์, ถนอม ไชยวงศ์แก้ว, วุธิตา มูสิกะระทวย, ศักดิ์สิริ มีสมสืบ เป็นต้น

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 กรมศิลปากร. ครรภครรลองร้อยกรองไทย. กรุงเทพฯ, 2545.
  2. กำชัย ทองหล่อ. หลักภาษาไทย. รวมสาส์น (1977) : กรุงเทพฯ, 2545.
  3. อุปกิตศิลปสาร, พระยา. หลักภาษาไทย. 2511:360-365
  4. สุภาพร มากแจ้ง. กวีนิพนธ์ไทย 1. กรุงเทพฯ, โอเดียนสโตร์, 2535.
Kembali kehalaman sebelumnya


Index: pl ar de en es fr it arz nl ja pt ceb sv uk vi war zh ru af ast az bg zh-min-nan bn be ca cs cy da et el eo eu fa gl ko hi hr id he ka la lv lt hu mk ms min no nn ce uz kk ro simple sk sl sr sh fi ta tt th tg azb tr ur zh-yue hy my ace als am an hyw ban bjn map-bms ba be-tarask bcl bpy bar bs br cv nv eml hif fo fy ga gd gu hak ha hsb io ig ilo ia ie os is jv kn ht ku ckb ky mrj lb lij li lmo mai mg ml zh-classical mr xmf mzn cdo mn nap new ne frr oc mhr or as pa pnb ps pms nds crh qu sa sah sco sq scn si sd szl su sw tl shn te bug vec vo wa wuu yi yo diq bat-smg zu lad kbd ang smn ab roa-rup frp arc gn av ay bh bi bo bxr cbk-zam co za dag ary se pdc dv dsb myv ext fur gv gag inh ki glk gan guw xal haw rw kbp pam csb kw km kv koi kg gom ks gcr lo lbe ltg lez nia ln jbo lg mt mi tw mwl mdf mnw nqo fj nah na nds-nl nrm nov om pi pag pap pfl pcd krc kaa ksh rm rue sm sat sc trv stq nso sn cu so srn kab roa-tara tet tpi to chr tum tk tyv udm ug vep fiu-vro vls wo xh zea ty ak bm ch ny ee ff got iu ik kl mad cr pih ami pwn pnt dz rmy rn sg st tn ss ti din chy ts kcg ve 
Prefix: a b c d e f g h i j k l m n o p q r s t u v w x y z 0 1 2 3 4 5 6 7 8 9