พิภพมัจจุราช
พิภพมัจจุราช เป็นรายการโทรทัศน์ไทยประเภทละครชุดจบในตอนแนวส่งเสริมสังคมและศีลธรรม นำเสนอเรื่องราวสมมุติของบุคคลและเหตุการณ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับกฎแห่งกรรม และการพิพากษาโทษของบุคคลที่ก่อกรรมนั้น ๆ โดยพญามัจจุราช ให้ไปเสวยผลของกรรมในภพภูมิต่าง ๆ ไม่ว่าจะขึ้นไปจุติบนสวรรค์หรือตกลงไปชดใช้กรรมในนรก ขึ้นอยู่กับกรรมที่พวกเขาเคยกระทำไว้ขณะมีชีวิตอยู่บนโลกมนุษย์ ประพันธ์โดย พันเอก พยุง พึ่งศิลป์ ถูกสร้างทั้งหมด 4 ครั้ง โดย 2 ครั้งแรกผลิตโดยรัชฟิล์มทีวี ออกอากาศในช่วงปี พ.ศ. 2511 – 2518 (ขาว-ดำ) และ พ.ศ. 2520 – 2522 (ระบบสี) ทางช่อง ททบ.5 ต่อมาได้ถูกสร้างเป็นครั้งที่ 3 โดย บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และ กรุ๊ปเอ็ม โมชั่น เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ออกอากาศในปี พ.ศ. 2566 ทางช่อง 7HD และครั้งที่ 4 ออกอากาศในปี พ.ศ. 2567 – ปัจจุบัน ทางช่อง 3 เอชดี โดยมีเพลงประจำละครที่แต่งโดย พ.อ.อ.มนัส ปิติสานต์ จนได้รับความนิยม งานสร้างยุครัชฟิล์มทีวีพิภพมัจจุราชเป็นรายการโทรทัศน์รายการที่ 2 ของห้างหุ้นส่วนจำกัด รัชฟิล์มทีวี ต่อจากชุมทางชีวิต เขียนบทโทรทัศน์โดย เทียว ธารา กำกับการแสดงโดย สมควร กระจ่างศาสตร์ นำแสดงโดย สิงห์ มิลินทาศัย (พญามัจจุราช), จรัล พันธุ์ชื่น (สุวรรณ), อดินันท์ สิงห์หิรัญ (สุวาน) และ เทียว ธารา (ยมทูต) และมีนักแสดงรับเชิญแตกต่างกันในแต่ละตอน ออกอากาศจำนวน 2 ครั้ง ดังนี้
รวมการออกอากาศภายใต้การผลิตโดยรัชฟิล์มทีวีทั้งหมด 454 ตอน[2] ในการออกอากาศครั้งแรกในระบบขาว-ดำ มีการเปลี่ยนตัวนักแสดงที่รับบทพญามัจจุราชถึง 2 ครั้ง โดยครั้งแรก วิชิต ไวงาน มาแสดงแทนสิงห์ที่เสียชีวิตไป ต่อมาวิชิตก็เสียชีวิตอีก จึงเปลี่ยนนักแสดงเป็น พิศาล อัครเศรณี ซึ่งมีความเป็นวัยรุ่นมากขึ้น[3] เป็นการลบภาพจำเดิม ๆ เกี่ยวกับพญามัจจุราชจากที่แสดงโดย 2 คนก่อนหน้า[4] ส่วนตัวละครสุวรรณ-สุวาน มีการเปลี่ยนแปลงนักแสดงอยู่หลายชุด[2] ยุคกันตนาต่อมาในปี พ.ศ. 2566 บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งทายาทของผู้ก่อตั้งรัชฟิล์มทีวี (ละลิตา ฉันทศาสตร์โกศล) เป็นนักเขียนบทในสังกัดดังกล่าวด้วย ได้นำพิภพมัจจุราชกลับมาสร้างใหม่เป็นครั้งที่ 3 ตามความตั้งใจของตนก่อนหน้านี้ โดยผลิตร่วมกับ กรุ๊ปเอ็ม โมชั่น เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ อำนวยการผลิตโดย จิตรลดา กัลย์จาฤก อำนวยการสร้างและดำเนินรายการช่วงเริ่มเรื่องโดย ดิษย์กรณ์ ดิษยนันทน์ กัลย์จาฤก เขียนบทโทรทัศน์โดย จตุรภัทร กำกับการแสดงโดย อนุวัฒน์ ถนอมรอด นำแสดงโดย เคลลี่ ธนะพัฒน์ (พญามัจจุราช), ธราธิป สีหเดชรุ่งชัย (สุวรรณ), ปิยะวัฒน์ รัตนหรูวิจิตร (สุวาน), ธวัชนินทร์ ดารายน (ยมนา) และ ฉัตรดาว สุปรีย์ชา (ยมมณี) และมีนักแสดงรับเชิญแตกต่างกันในแต่ละตอน โดยในฉบับนี้เน้นการนำสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบันมาสร้างเป็นละครในแต่ละตอน[5] กันตนาได้จัดพิธีบวงสรวงก่อนเริ่มถ่ายทำละครเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ที่วัดท่าไม้ จังหวัดสมุทรสาคร[6] และบวงสรวงก่อนเริ่มออกอากาศอีกครั้งเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ที่วัดจุฬามณี จังหวัดสมุทรสงคราม โดยมีการสร้างเหรียญพญายมราชเพื่อความเป็นสิริมงคลและที่ระลึก[7] เดิมพิภพมัจจุราชออกอากาศทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 17:00 – 18:00 น. ทางช่อง 7HD เริ่มออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 กันยายน ในตอน "แชร์มรณะ"[8] และมีการเปิดให้ผู้ชมรายการร่วมกิจกรรมตอบคำถามเพื่อรับของที่ระลึกอีกด้วย[9] อย่างไรก็ตาม พิภพมัจจุราชในรอบนี้ออกอากาศตอนสุดท้ายเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม ทำให้ในฉบับนี้ออกอากาศเพียง 35 ตอน โดยตอนสุดท้ายคือตอน "ขวัญใจมวลชน"[10] เนื่องจากกันตนาได้ถอดรายการนี้ออกจากผังรายการของช่อง 7HD พร้อมกับรายการอื่น ๆ ที่ออกอากาศทางช่อง 7HD ทั้งหมด เช่น คดีเด็ด และ เรื่องจริงผ่านจอ ด้วยสาเหตุจากค่าเช่าเวลาสถานีที่แพงมากเกินไป[11] หลังจากนั้นพิภพมัจจุราชได้พักการออกอากาศไปเป็นเวลา 4 เดือน ก่อนจะกลับมาออกอากาศอีกครั้งเป็นครั้งที่ 4 แต่ปรับลดเวลาเหลือ 45 นาที ตัดกิจกรรมตอบคำถามออก ยกเลิกตัวละครยมมณี และออกอากาศ 1 ตอน/สัปดาห์ ทุกวันอาทิตย์ เวลา 16:00 – 16:45 น. ทางช่อง 3 เอชดี เริ่มออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 ในชื่อตอน "เหยื่อบริสุทธิ์"[12] ณ วันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 พิภพมัจจุราชเป็นรายการโทรทัศน์ประเภทละครชุดที่มีจำนวนตอนออกอากาศรวมทุกฉบับทั้งหมด 500 ตอน แบ่งเป็นฉบับที่ 1 จำนวน 368 ตอน, ฉบับที่ 2 จำนวน 86 ตอน, ฉบับที่ 3 จำนวน 35 ตอน และฉบับปัจจุบัน จำนวน 11 ตอน โดยตอนที่ 500 คือตอน "โอ๊ปป้า..สามีแห่งชาติ" นำแสดงโดย นรินทร์โชติ วชิรธรนิยมกุล[13] นักแสดง
เพลงประกอบละครเพลงประกอบละครพิภพมัจจุราช มีชื่อเดียวกับละคร คือ "พิภพมัจจุราช" ประพันธ์คำร้องและแต่งทำนองโดย พันจ่าอากาศเอก มนัส ปิติสานต์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล) ประจำปี พ.ศ. 2555 โดย พ.อ.อ.มนัส เล่าว่า วันหนึ่ง ระหว่างที่ตนนั่งอยู่ใต้ต้นไทรหน้าช่อง ททบ.7 พ.อ.พยุง ผู้ก่อตั้งรัชฟิล์ม ได้เดินเข้ามาหาตน และบอกให้ช่วยแต่งเพลงประกอบละครพิภพมัจจุราช ภายใน 1 สัปดาห์ และมอบเงินให้ 6,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นมูลค่าที่สูงมากในขณะนั้น หลังจากได้เงินมา ตนจึงหยิบไวโอลินแล้วเดินออกไปเรียกแท็กซี่หน้าสถานี ให้ไปส่งที่พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม ก่อนให้รอรับกลับ จากนั้นตนจึงนั่งแต่งเพลงพิภพมัจจุราชบนระเบียงพระปฐมเจดีย์จนเสร็จสมบูรณ์ในบ่ายวันเดียวกัน และได้รับเงินจาก พ.อ.พยุง เพิ่มอีก 5,000 บาทในวันส่งงาน ต้นฉบับร้องนำโดย วิเชียร ภู่โชติ และร้องประสานโดย สุวรรณ พลอยประดิษฐ์ และ โกวิท (ไม่ทราบนามสกุล) ซึ่งได้อัดเสียงกีตาร์ในเพลงนี้ด้วย[3] โดยเพลงนี้ได้รับความนิยมอย่างมากภายหลังเผยแพร่ จนมีศิลปินอื่น ๆ นำเพลงนี้มาขับร้องและทำใหม่ขึ้นอีกหลายฉบับ เช่น ทีโบน (พ.ศ. 2537), เดอะ ฮอสพิทัล (พ.ศ. 2565) เป็นต้น[14] ภายหลังกันตนานำพิภพมัจจุราชกลับมาสร้างใหม่ ดิษย์กรณ์ ดิษยนันทน์ กัลย์จาฤก ได้นำเพลงนี้กลับมาขับร้องใหม่[2] ผ่านการเรียบเรียงเพลงโดย สุวัธชัย สุทธิรัตน์ โดยเรียบเรียงออกมาเป็นเพลงแนวคลาสสิกร็อก หนักแน่น มีพลัง และปรับทำนองใหม่ให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น[5] นอกจากนั้นยังได้นำเพลงนี้มาดัดแปลงเพิ่มอีกเล็กน้อย เป็นเพลงชื่อ "พิภพมัจจุราช…นรกโลกันต์" ร้องโดยดิษย์กรณ์ ประพันธ์คำร้องเพิ่มเติมโดย เศรษฐศักดิ์ เศรษฐจิตต์ และเรียบเรียงโดย รักษ์พล รักขนาม สิ่งสืบเนื่องในภาพจิตรกรรมไทยประเพณีและสมุดข่อยในอดีต จิตรกรมักวาดภาพพญามัจจุราชเป็นเทพบุรุษ สวมเครื่องแต่งกายแบบละครไทย คือสวมชฎาปกติ แต่ภายหลังการสร้างละครพิภพมัจจุราชครั้งแรกโดยรัชฟิล์มทีวี ได้เปลี่ยนเครื่องแต่งกายของพญามัจจุราช เป็นให้สวมศิราภรณ์คล้ายกับนักรบไวกิ้ง เป็นหมวกทรงครึ่งวงกลม ด้านบนมีเขางอโค้งอยู่สองข้าง ภาพจำเรื่องพญามัจจุราชสวมหมวกมีเขา จึงสืบทอดมาสู่วัฒนธรรมประชานิยมของไทยในเวลาต่อมา[15] นอกจากนี้ พิภพมัจจุราชยังมีอิทธิพลสำคัญต่อการสร้างภาพนรกภูมิตามสื่อต่าง ๆ ในยุคต่อมา เช่น ภาพยนตร์ ยมบาลจ๋า (พ.ศ. 2521), นรก (พ.ศ. 2548), ละครชุด ยมบาลเจ้าขา (พ.ศ. 2556 – 2557) และละคร บุพเพสันนิวาส (พ.ศ. 2561) (ส่วนละครเรื่อง "เงา" ซึ่งมีตัวละครชื่อ "ท่านชายวสวัตดีมาร" โดยนามปากกาโรสลาเรนทำการเขียนบทละครให้มีความคล้ายคลึงกับพญามัจจุราช แต่ท่านชายวสวัตดีมาร เป็นเทพเจ้าแห่งความตายที่มีลักษณะกึ่งเทพกึ่งมนุษย์ และมาอาศัยบนโลกมนุษย์เป็นเวลายาวนาน ตั้งแต่ครั้นโบราณกาล) โดยเรื่องราวเหล่านี้มักให้อารมณ์น่าหวั่นกลัวสยองขวัญแก่ผู้ชม เพื่อนำเสนอแนวคิดทางศาสนาพุทธ เกี่ยวกับการตระหนักถึงบาปบุญคุณโทษ และการเวียนว่ายตายเกิด ทำให้แก่นของเนื้อหาและภาพลักษณ์ภายนอกของตัวละครมักผลิตซ้ำตามกรอบแนวคิดดังกล่าวอยู่บ่อยครั้ง แต่มีการพัฒนาผลเสมือนจริง ให้ภาพสมจริงยิ่งขึ้นตามวิวัฒนาการของเทคโนโลยีในขณะนั้น ๆ นอกจากนี้ ยังมีสื่อโฆษณาบางตัวที่นำฉากจากพิภพมัจจุราชมาล้อเลียนจากต้นฉบับ เช่น โฆษณาลูกอมฮอลล์ (พ.ศ. 2542), ธนาคารกรุงไทย (พ.ศ. 2546), ปุ๋ยตรารถเก๋ง (พ.ศ. 2558) เป็นต้น[16] รางวัล
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
|